รายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เล่ม 2)

สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (Mekong-ASEAN Environmental Week – MAEW) เวียนมาจัดอีกครั้งเป็นปีที่ 5 โดยปีนี้มีวงสนทนาและงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เล่ม 2)” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ Hope Space กรุงเทพฯ หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของการทำงานติดตามและตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ลงทุนในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปี ของคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน (Extra-Territorial Obligations: ETOs Watch) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันจาก 5 องค์กร [กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly – TMB) องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers – IR) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resources Center – CRC) เอิร์ธไรท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Earth Rights International – ERI) และเสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement – SEM)]

ภาพปกรายงานการติดตามการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ: ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน(เล่ม 2)/ ภาพจาก ETOs Watch

ชนาง อำภารักษ์, The Mekong Butterfly ผู้ดำเนินรายการ เกริ่นถึงภาพรวมของหนังสือเล่มสีเขียวมิ้นท์ (เล่ม 2) ที่ได้อัพเดตกรณีศึกษาที่ทางกลุ่ม ETOs Watch ได้ติดตามมาตลอดต่อจากเล่มสีส้ม (เล่ม 1) ซึ่งผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว จาก 12 เคสในเล่มส้มก็เพิ่มมาเป็น 21 เคส ในเล่มเขียวมิ้นท์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือทุนไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพัก อักทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐมากมายเช่นกัน โดยในรายงานเล่มนี้จะมีการอัพเดตข้อมูลของโครงการเดิมและเพิ่มเติมข้อมูลของโครงการใหม่ที่ขาดหายไปในช่วงปี 2560 – 2565  ซึ่งชนางกล่าวว่า “จริงๆ แล้วมันไม่ใช่โครงการใหม่แต่อย่างใดแต่มันเป็นโครงการที่เหมือนถูกปลุกผีกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งในยุคสมัยของเรา บางโครงการเกิดขึ้นมานาน 20-30 ปีแล้ว แล้วก็ถูกแช่ค้างไว้ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในยุคนี้”

โครงการ 21 โครงการ ที่ทาง ETOs Watch ติดตาม

               ข้อมูลอัพเดตโครงการในประเทศเมียนมา ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร, The Mekong Butterfly กล่าวว่า โครงการในเมียนมาทั้งหมด 8 โครงการ มี 2 โครงการที่ยุติไปแล้วคือ โครงการโรงปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมืองเมาะลำไย และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเย แต่หลังจากรัฐประหารล่าสุด คณะเผด็จการทหารพม่านำโดย มิน อ่อง หล่าย ก็ออกมาแสดงท่าทีพยายามจะฟื้นคืนหลายๆ โครงการอยู่หลายครั้ง ซึ่งโครงการเหล่านี้เคยถูกผลักดันและดำเนินการไปบางส่วนแล้วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่เมียนมาเริ่มมีการปฏิรูปทางการเมือง ในช่วงปี 2553 สมัยรัฐบาลเตงน์ เส่ง ก็มีแผนการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น พร้อมกับมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ดึงดูดทุนไทยเข้าไปในช่วงนี้เยอะมากพอสมควร

แต่หลายโครงการมีการหยุดชะงักไปในช่วงสมัยรัฐบาลเอ็นแอลดี (NLD) เช่นโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย รัฐบาลเมียนมาได้ยกเลิกสัมปทานบริษัทอิตาเลียน-ไทย ซึ่งจริงๆ มีการดำเนินโครงการมานานเกือบ 10 ปีแล้วแต่ว่าตัวโครงการไม่มีความคืบหน้าและมีสาเหตุเรื่องการหาทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่ม ต่อมาในยุคของมิน อ่อง หล่าย ก็ได้ยืนยันเดินหน้าผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง ซึ่งในช่วงแรกหลังรัฐประหาร ทางรัฐบาลไทยก็ได้พยายามไปเจรจาแต่ข้อตกลงยังไม่ยุติ และมีแนวโน้มว่าทางมิน อ่อง หล่าย อาจมองหานักลงทุนจากจีนมากกว่าเพราะจีนมีแนวโน้มสนับสนุนกองทัพพม่ามากพอสมควร

อีกโครงการที่ยังชะงักอยู่คือโครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ด่านพุน้ำร้อน (Dawei Road Link) ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยอนุมัติปล่อยเงินกู้ 4.5 พันล้านบาทให้กับรัฐบาลเอ็นแอลดีของเมียนมา แต่ด้วยสภาวะสงคราม การรัฐประหาร รวมถึงมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของของฝ่ายค้านไทยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณว่างบส่วนนี้มีส่วนไปส่งเสริมคณะรัฐประหารเมียนมาให้ละเมิดประชาชนในพื้นที่ ทำให้โครงการนี้ถูกตั้งคำถามมากมาย ทางเราได้สอบถามไปยังสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ถึงความชัดเจนว่าจะปล่อยเงินกู้หรือสนับสนุนต่อหรือไม่ สุดท้ายเมื่อเกิดการรัฐประหารทาง NEDA ก็มีมติว่าจะยังไม่ปล่อยเงินกู้สนับสนุนโครงการที่อยู่ในประเทศเมียนมา

อีกโครงการที่มิน อ่อง หล่าย พยายามผลักดันคือโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขื่อน 1 ใน 7 เขื่อนบนลำน้ำสาละวินที่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย แล้วก็มีผู้ลงทุนหลักเป็นไทยและจีน ซึ่งรายงานจากกลุ่มภาคประชาสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ที่ติดตามเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรัฐกะเหรี่ยง กล่าวว่าหลังการรัฐประหาร ทหารพม่าก็พยายามเข้าควบคุมพื้นที่สร้างถนนเพื่อเปิดพื้นที่เข้าสู่โครงการโดยมีการเกณฑ์ชาวบ้านมาเป็นแรงงานสร้างถนนด้วย แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้เราไม่สามารถติดตามข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าตอนนี้โครงการดำเนินไปถึงไหนแล้ว ซึ่งแม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยังไม่มีเขื่อนมากั้นเลย

ธีระชัยเล่าถึงโครงการสุดท้ายในเมียนมาซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญคือโครงการท่อก๊าซธรรมชาติยาดานา เยตะกุน และซอติก้า ในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของคณะเผด็จการทหารพม่าในตอนนี้ โดยหลังรัฐประหาร ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปก็ได้คว่ำบาตรแบบเจาะจงต่อทหารพม่า รวมทั้งมีการถอนทุนออกจากโครงการนี้ไปในปี 2564 แต่ก็ทำให้บริษัท ปตท.สผ. ของไทย เข้ามามีบทบาทเป็นผู้ดำเนินโครงการแทนเต็มตัวในปี 2565 จากเดิมเป็นเพียงผู้ถือหุ้น โดยก๊าซจากทั้ง 3 แหล่งข้างต้นถูกนำเข้ามาใช้ผลิตไฟฟ้าในไทยประมาณ 14% จากที่ใช้ทั้งหมด 60%

จากข้อมูลของ Blood Money Campaign (BMC) กลุ่มประชาชนเมียนมาที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหารเพื่อสกัดกั้นการเงินที่เกิดจากการลงทุนจากต่างประเทศที่ไปสนับสนุนคณะรัฐประหาร ชี้ให้เห็นสัดส่วนการลงทุนของบริษัทในเครือ ปตท. โดยจำนวนเงินประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ทางบริษัทไทยจ่ายค่าก๊าซจาก 3 โครงการข้างต้นให้กับ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) รัฐวิสาหกิจเมียนมาภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า คิดเป็น 48% หรือเกือบครึ่งนึงของงบประมาณกองทัพพม่าเลย สรุปให้เห็นภาพง่ายๆ คือคนไทยจ่ายค่าไฟให้กับกองทัพพม่านั่นเอง

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร อธิบายถึงโครงการท่อก๊าซธรรมชาติยาดานา เยตะกุน และซอติก้า ในเมียนมา

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังรัฐประหารในเมียนมามีหลายบริษัทที่มีธรรมาภิบาลตัดสินใจถอนทุน แต่กลับกลายเป็นยุคเฟื่องฟูของทุนไทย ซึ่งนับเป็นอันดับ 3 ที่มีสัดส่วนเข้าไปลงทุนในเมียนมาสูงสุดในตอนนี้ โดยธีระชัยเสริมว่าถ้าย้อนกลับไปในยุคที่มีการรัฐประหารก่อนหน้านี้ 30 ปีที่แล้ว สภาพการดำเนินธุรกิจของไทยก็มีลักษณะแบบนี้คือสมประโยชน์กับกองทัพพม่าอยู่แล้ว ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพไทย-พม่า ที่มีมายาวนานได้เปิดโอกาสให้ทุนบางประเภทได้เข้าไปเจรจาต่อรองกับกองทัพพม่าหรือแม้แต่กองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาต้องการขายทรัพยากรตัวเองเพื่อบำรุงกองทัพอยู่แล้ว (ประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการที่เขาต้องดูแล) 

ซึ่งทาง BMC ก็ได้พยายามรณรงค์และสื่อสารให้ทุนต่างๆ หยุดความสัมพันธ์กับกองทัพพม่า อย่างน้อยที่สุดต้องหยุดจ่ายเงินเข้ากองทัพ แต่ใช้วิธีจ่ายเข้าบัญชีบริการบัญชีรับฝากและจ่ายเงินแบบมีเงื่อนไขตามคำสั่ง (Escrow Account) แทนเพื่อให้กองทัพเข้าถึงเงินทุนได้ยากขึ้น อย่างในตอนนี้ก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์ปิดช่องทางการเงินและหยุดขายอาวุธให้กองทัพพม่า (สิงคโปร์ขายอาวุธให้เมียนมาสูงสุดเป็นอันดับ 3 ไทยเป็นอันดับ 5) แม้ที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทไหนจ่ายเงินเข้า Escrow Account นอกจากการถอนทุนออกไปตามที่เขายึดหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ว่าการถอนทุนออกไปเฉยๆ มันก็อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าเราจะช่วยหยุดการสังหารประชาชนได้ยังไง

ไพริน เสาะสาย อธิบายถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ในลาว/ ภาพจาก Hope Space

               จากโครงการในเมียนมาต่อมาที่โครงการเขื่อนโขงในฝั่งของประเทศลาว ไพริน เสาะสาย, International Rivers เริ่มต้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นมากมายที่เขื่อนในแม่น้ำโขงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และจากเล่มส้มมายังเล่มเขียวที่เราพยายามอัพเดตนั้น ก็รู้สึกว่ามันเป็นการอัพเดตแบบที่โครงการเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดเช่นกัน โดยโครงการที่ติดตามในสปป.ลาว ทั้งหมดเป็นโครงการที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ลาว ภายใต้นโยบาย Battery of Asia ของลาวที่เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างประเทศไปลงทุนในโครงการพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนที่อยู่บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยเป้าหมายหลักของการซื้อไฟฟ้านั้นมีเหตุผลว่าพลังงานน้ำเป็นพลังงานสะอาด แต่ขอชวนทุกคนตั้งคำถามต่อว่ามันสะอาดจริงๆ หรือเปล่า และมันจะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนได้จริงไหม

               ไพรินอธิบายต่อว่าประเทศไทยและลาวมีความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2536 เริ่มต้นจากโครงการเล็กๆ 3,000 MW แต่ปัจจุบันมีการขยายกรอบความร่วมมือมากขึ้นเป็น 10,500 MW โดยไทยมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวแล้วกว่า 10 โครงการ ซึ่งโครงการทั้งหมดลงทุนโดยบริษัทเอกชนไทยและมีธนาคารไทยเป็นผู้ให้เงินกู้ และล่าสุดตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 – กันยายน 2566 ได้มีการลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วเพิ่มขึ้นอีก 3 เขื่อน คือ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนปากแบง ไพรินเล่าต่อถึงหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าว่าเป็นปัจจัยดึงดูดเนื่องจากหากโครงการต่างๆ ผ่านหลักเกณฑ์นี้ก็สามารถเซ็นสัญญาได้เลย เช่น โครงการต้องผ่านกระบวนการเพิจารณาภายในสปป.ลาว อย่างถูกต้องครบถ้วน ได้รับการอนุมัติจาก EIA เป็นโครงการที่ไทยร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 25% เป็นโครงการที่ได้รับหนังสือยืนยันจากผู้ถือหุ้นทุกรายว่าจะขายไฟฟ้าให้ไทยและราคารับซื้อไฟฟ้าต้องสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เป็นต้น

โครงการเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง/ ภาพจาก ETOs Watch

   จากในแผนที่ที่เป็นกรอบสีแดงคือเขื่อนทั้งหมดที่สร้างเสร็จแล้ว กรอบสีส้มคือเขื่อนที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไปแล้ว คือ เขื่อนปากแบงเพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อ 23 กันยายนที่ผ่านมา เขื่อนหลวงพระบางเซ็นสัญญาไปเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565 และเขื่อนปากลายเซ็นไปเมื่อ 20 มีนาคม 2565 ซึ่งทั้ง 3 เขื่อนมีผู้ลงทุนไทยลงทุนร่วมกับบริษัทเอกชนของจีน ส่วนสีน้ำตาลคือเขื่อนที่กำลังศึกษาพิจารณา และสีเขียวคือเขื่อนที่อยู่ในแผนการลงทุน

ไพรินให้ข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากในหนังสือว่าได้ทำงานร่วมกับแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมหรือ Fair Finance Thailand ที่พยายามทำงานให้ข้อมูลและรณรงค์กับสถาบันการเงินโดยเฉพาะผู้ให้เงินกู้กับโครงการเขื่อนต่างๆ จากที่ตอนนี้ทุกธนาคารพยายามประกาศการรับหลักการเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หลักการ Equator Principle และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นอีกกลไกนึงในการกำกับและตรวจสอบ แม้ว่าหลายธนาคารจะมีการประกาศรับหลักการแต่ว่าในขั้นตอนของการปฏิบัติก็ยังไม่เห็นความชัดเจนหรือไม่มีข้อมูลว่าทำมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องพลังงานน้ำที่มักมีการกล่าวอ้างว่าเป็นพลังงานสะอาดนั้น ไพรินเสริมว่ามันมีแคมเปญลดใช้พลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานน้ำแทนเพราะมองว่ามันง่ายไม่มีต้นทุน แต่เขาไม่ได้คิดถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไพรินทิ้งท้ายว่าตลอด 10 ปีที่ติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนมาก็มีความพยายามใช้เครื่องมือเยอะมากในการเรียกร้องให้ทั้งผู้พัฒนาโครงการและหน่วยงานรัฐเข้ามารับผิดชอบผลกระทบที่มันเกิดขึ้นจากโครงการการลงทุนด้านพลังงาน คำถามสำคัญคือทำไมเราต้องใช้ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มในขณะที่ตอนนี้ประเทศไทยมีพลังงานสำรองสูงมากกว่า 40% และประชาชนไทยทุกคนต้องจ่ายค่าไฟที่แพงมากและจะกลายเป็นภาระผูกพันตกไปถึงลูกหลาน (หากใครสนใจร่วมลงชื่อถึงรัฐบาล สามารถติดตามได้ใน #ค่าไฟต้องแฟร์)

ส.รัตนมณี พลกล้า อธิบายถึงโครงการสัมปทานปลูกอ้อยในเกาะกงและโอดอร์เมียนเจยในกัมพูชา/ ภาพจาก Hope Space

จากเขื่อนโขงในลาวไล่มาถึงโครงการในกัมพูชา ส.รัตนมณี พลกล้า, Community Resource Centre เล่าว่าในหนังสือเล่มเขียวนี้จะตามอยู่ 2 เคส คือโครงการสัมปทานปลูกอ้อยในเกาะกงและโอดอร์เมียนเจย โดยกรณีน้ำตาลเกาะกงเป็นบริษัทไทยได้สัมปทานเข้าไปปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2549 แต่ชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัวในพื้นที่นั้นได้คัดค้านจนนำไปสู่การฟ้องต่อศาลกัมพูชาแต่คดีไม่มีความคืบหน้าเพราะบริษัทมีข้อโต้แย้งว่าชาวบ้านที่มาฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของที่ดิน  ขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมในกัมพูชาก็ได้ดำเนินการใช้กลไก supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) เพื่อดูว่าจะต้องมีใครมารับผิดชอบบ้างนอกจากบริษัทไทย ก็พบว่ามีผู้ซื้อเป็นบริษัทในอังกฤษเลยมีการไปฟ้องที่อังกฤษด้วย                             ส.รัตนมณี อธิบายต่อว่ากระบวยการฟ้องคดีต้องใช้เวลา แล้วถึงที่สุดในมุมของคดีเองก็ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ในเรื่องของการเยียวยา แต่ด้วยกลไกของประเทศอังกฤษที่ให้มีการเจรจาต่อรองนอกศาลได้ ในปีนี้จึงมีข้อตกลงที่สำเร็จว่าให้บริษัทของอังกฤษดำเนินการจ่ายค่าเสียหายและคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน

               ในส่วนกรณีน้ำตาลโอดอร์เมียนเจย ต่างกับเคสแรกคือมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในลักษณะตั้งบริษัทใหม่ในประเทศกัมพูชา 3 บริษัทเพื่อให้ได้รับขนาดพื้นที่สัมปทานมากขึ้น (ตามกฎหมายกัมพูชากำหนดห้ามให้สัมปทานพื้นที่เกินกว่า 1 หมื่นเฮกตาร์) แต่ในช่วงที่มีการไล่รื้อที่ชาวบ้านจริงๆ 2 บริษัทยุติไปและควบรวมเป็นบริษัทอังกอร์ซูการ์เพียงบริษัทเดียว ซึ่งทำให้มีความผิดตามกฎหมายของกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่าถ้าหากตรวจพบว่ามีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิ์หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ บริษัทจะต้องมีการตกลงจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านก่อนที่จะได้รับที่ดิน แต่ปรากฏว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการแต่ใช้วิธีการเข้าไปไล่รื้อเลย รวมทั้งมีการเผาบ้านเรือนด้วย ชาวบ้านจึงออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม

               จากบทเรียนของกรณีเกาะกง ภาคประชาสังคมมองว่าไม่น่าจะได้รับความเป็นธรรมจากศาลในกัมพูชา เลยตัดสินใจไปฟ้องคดีที่อื่น ซึ่งตามกฎหมายไทยในพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายขัดกัน หากคนไทยไปทำการละเมิดในต่างประเทศผู้ได้รับผลกระทบก็สามารถมาฟ้องในประเทศไทยได้ ก็เลยมีกระบวนการศึกษาและเป็นที่มาของการฟ้องคดีแบบกลุ่มในศาลแพ่งไทยในปี 2561 โดยมีตัวแทนชาวบ้าน 2 คน จากผู้ได้รับความเสียหายกว่า 700 คน มาฟ้องคดี ใช้เวลาเกือบปีกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีแบบกลุ่ม เราก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อก่อนจะมีคำสั่งรับฟ้องในปี 2563 และต้องดำเนินการประกาศในหนังสือพิมพ์ตามข้อกฎหมายเพื่อให้สมาชิกรับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งเราได้ประกาศทั้งภาษาไทย อังกฤษ กัมพูชา ลงในสื่อไทยและกัมพูชา รวมทั้งต้องส่งไปรษณีย์แจ้งไปยังชาวบ้าน ฯลฯ ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเริ่มกระบวนการจริงๆ ก็ช่วงปี 2565 ในกระบวนการตรวจพยานหลักฐาน ทางเราก็ได้ไปใช้กระบวนการของศาลอเมริกาเพื่อมีคำสั่งให้บริษัทโคคาโคล่าให้ข้อมูลผู้จัดจำหน่ายน้ำตาลให้เรา ซึ่งจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าบริษัทไทยมีส่วนเกี่ยวข้องและจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ปัจจุบันกระบวนการตรวจพยานหลักฐานยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งศาลจะนัดยื่นพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายอีกครั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ และคาดหวังว่าจะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานจริงๆ และสืบพยานภายในปีหน้า

               ส.รัตนมณี ทิ้งท้ายว่า กระบวนการที่ชาวบ้านจะเข้าถึงความยุติธรรมนั้นไม่ง่ายเลย หากชาวบ้านไม่มีเครือข่ายหรือใครมาคอยสนับสนุนก็คงจะทำอะไรไม่ได้มาก โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว คนที่ออกมาเรียกร้องก็ถูกจับ สูญหาย หรือต้องลี้ภัย ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ออกไปลงทุน เราในฐานะประชาชนก็ควรต้องมีส่วนช่วยรับผิดชอบโดยการทำงานผลักดันติดตามให้รัฐบาลมารับผิดชอบผ่านทุกๆ กลไกที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยพยายามไปบอกนานาชาติว่าตัวเองเคารพสิทธิมนุษยชน ปกป้องสิ่งแวดล้อม มีการไปรับหลักการ UNGP ว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการชาติ (National Action Plan) หรือการที่ไทยพยายามพัฒนาแผน NCP (National Contract Point) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) ฯลฯ คือการมีแผนเหล่านี้ก็ดีกว่าเราไม่มีอะไรเลย อย่างน้อยที่สุดเราก็มีเครื่องมือในการติดตามและพูดคุยกับรัฐบาลต่อได้ว่าคุณประกาศแล้วทำไมไม่ทำตาม

วรวรรณ ศุกระฤกษ์ เล่าถึงกลไกต่างๆ ที่ ETOs Watch ใช้ทำงานติดตามโครงการการลงทุนต่างๆ/ ภาพจาก Hope Space

ต่อด้วยเรื่องกลไกการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน วรวรรณ ศุกระฤกษ์, Earth Rights International กล่าวว่ากลไกเหล่านี้จะกำกับได้จริงไหมและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเข้าถึงการเยียวยาได้จริงไหมเป็นคำถามหลักที่ทำให้เครือข่าย ETOs Watch ยังคงทำงานอยู่ทุกวันนี้ ในหนังสือเล่มนี้มี 21 โครงการ แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโครงการที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากมาย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษแขวงอุดมไซ ในลาว ศูนย์อุตสาหกรรมอมตะนคร อมตะนครซิตี้ที่เวียดนาม หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์พิว ในเมียนมา ของบริษัทไก่ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งวรวรรณบอกว่าปัจจัยจูงใจแรกที่ทำให้คนไทยเหล่านี้ไปลงทุนที่ต่างประเทศคือการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ผ่านช่องโหว่ทางกฎหมายโดยใช้การลงทุนเป็นตัวตั้ง ปัจจัยที่สองคือการไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ได้รับข้อยกเว้นด้านภาษีต่างๆ การได้สิทธิ์เช่าที่ดินระยะยาว และหลักประกันที่มีให้กับนักลงทุนต่างชาติเป็นกรณีพิเศษ หรือโครงการเขื่อนหลายๆ แห่งที่ทุนไทยอ้างว่าต้องไปลงทุนเพิ่มเพื่อที่จะได้มีไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยเพิ่ม แต่ตัวเลขพลังงานสำรองของประเทศไทยตอนนี้มีมากถึง 45% ซึ่งเยอะมากถึง 3 เท่าจากพลังงานสำรองของมาตรฐานทั่วโลกที่มีประมาณ 15% เท่านั้น

กรณีศึกษาในเล่มนี้ส่วนมากจะเป็นรูปแบบของการลงทุนผ่านโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อย่างเช่น เหมืองแร่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน โดยวรวรรณกล่าวต่อว่าลักษณะของโครงการได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเปลี่ยนแปลงไป ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ มากมาย แต่พอชาวบ้านถามถึงค่าตอบแทน ค่าเสียหาย หรือว่าใครจะเยียวยา ซึ่งทางบริษัทเหล่านี้ก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบไปถึงขั้นนั้น หรืออย่างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ที่มีชาวบ้านกว่า 2 พันคนต้องอพยพ มีก๊าซกรดหรือโลหะหนักข้ามพรมแดนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายสุขภาพ นอกจากนี้เรายังพูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย อย่างเช่นชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบ ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กระบวนการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้นก็ฉาบฉวยแล้วก็ไม่มีคุณภาพจริงๆ หรือการที่ไม่ได้ใส่ใจถึงข้อกังวลหรือปัญหาที่ชาวบ้านจะเจอ เป็นต้น

               ซึ่งที่ผ่านมาทาง ETOs Watch ได้ใช้กลไกและกระบวนการต่างๆ มากมายในการทำงานสนับสนุนร่วมกับชาวบ้าน หนึ่งในนั้นคือการร้องเรียนไปยัง กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ให้มาตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดจากกลไกลักษณะ non-judicial process (กระบวนการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) นี้ คือทำให้เกิดการปรึกษาหารือกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสได้เจอกับผู้ลงทุนโดยตรงเพื่อพูดคุยกันให้เห็นรูปแบบของการเยียวยา รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำหรับการรณรงค์ต่อไป เช่น กรณีเหมืองบานชอง ในเมียนมา โรงไฟฟ้าหงสาและเขื่อนปากแบง ในลาว แต่สุดท้ายแล้วเมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เวลาเราพูดถึงกระบวนการการเยียวยา ก็จะเกิดคำถามว่ามันเยียวยาได้จริงๆ หรือ

อีกกลไกนึงที่ใช้ก็คือเรื่องการฟ้องคดี เแต่ขั้นตอนมันยาวนานมาก ต้องพิสูจน์หลักฐาน กลายเป็นภาระของชาวบ้านที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าได้รับผลกระทบจริงๆ เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากการไม่รับผิดชอบของบริษัทต่างๆ จริงๆ นอกจากกลไกในประเทศแล้วเราก็พยายามใช้กลไกในต่างประเทศด้วย เช่น การเขียนร้องเรียนไปยังผู้รายงานพิเศษด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือการร้องเรียนเรื่องเขื่อนไซยะบุรี ไปยัง OECD ผ่าน NCP ของประเทศฟินแลนด์ออสเตรีย ซึ่งใช้เวลานานเป็น 10 ปี เป็นต้น

แม้จะมีข้อท้าทายมากมายในการทำงานติดตามและตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตามวรวรรณก็เน้นย้ำว่าเราก็ยังจะสู้ต่อไปตามกระบวนการและกลไกที่มีในทุกๆ ช่องทาง ที่สำคัญคือการผนึกกำลังเป็นเครือข่ายระหว่างไทยและชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันต่อไป

.

ติดตามอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่: https://etowatchcom.files.wordpress.com/2023/09/etosbook2_e0b8a3e0b8b2e0b8a2e0b887e0b8b2e0b899e0b881e0b8b2e0b8a3e0b8a5e0b887e0b897e0b8b8e0b899e0b984e0b897e0b8a2e0b882e0b989e0b8b2e0b8a1e0b89ee0b8a3e0b8a1e0b981e0b894e0b899e0b980e0b8a5e0.pdf