Voice and Sound of the Resistance เมื่อเสียงต่อต้านของผู้คนยังดังกึกก้อง

1 กุมภาพันธ์ เหมือนเป็นยาพิษที่ย้อนคิดเมื่อไหร่ก็มีแต่ความเจ็บปวด แต่หน้าประวัติศาสตร์เมียนมาจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปนับตั้งแต่วันนั้น เช่นเดียวกับความเงียบงันในเช้าวันรัฐประหารที่สุดท้ายจะถูกกลบด้วยเสียงของการไม่ยอมถูกกดขี่ที่กระหึ่มดังทั่วทั้งประเทศ

วาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมียนมา SEM ร่วมกับ Amnesty International Thailand ได้จัดงาน “Do You Hear The People Sing?” ขึ้นที่ Lido Connect กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา โดยตั้งใจ ‘ส่งเสียง’ ให้ได้ยินและสื่อสารให้เห็นถึงความร่วมมือกันของประชาชน-ประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ ที่นับวันก็ยิ่งเหนียวแน่น ชัดเจน และมีพลัง โดยเฉพาะพลังแห่งความสร้างสรรค์ในการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม ต่อสู้กับโศกนาฏกรรม และความโศกเศร้า และความเบิกบานก็คือหนึ่งในพลังการต่อต้านของพวกเรา! 

หนึ่งในกิจกรรมหลักของงานคือวงสนทนา Voice and Sound of the Resistance ที่จะชวนทุกคนไปฟังว่ามีเสียงอะไรบ้างดังขึ้นมาในตลอดระยะเวลา 3 ปีนี้ โดยได้รับเกียรติจาก อรดี อินทร์คง นักศึกษาดุษฎีบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล และ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์มาร่วมแลกเปลี่ยน และมี วิภาพร วัฒนวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งมีการแปลภาษาไทย-เมียนมา โดย ชเว ซิน ติน 

วงสนทนา Voice and Sound of the Resistance/ Photo credit: ไข่แมวชีส

ชาติชาย เกษนัส หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีความผูกพันกับเมียนมามานานเริ่มต้นบทสนทนาว่าเรารู้กันดีว่าประเทศเมียนมาไม่เคยสงบเลยจากการมีสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งทางชาติพันธ์ุมาเกินครึ่งศตวรรษ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนจากตอนไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง From Bangkok to Mandalay หรือ ถึงคน…ไม่คิดถึง ในประเทศเมียนมาเมื่อปี 2015 คือแววตา รอยยิ้มมีความสุข และน้ำใจไมตรีที่เขาได้รับ เป็นสิ่งที่เขาทึ่งและประทับใจในความเป็นนักสู้ของชาวเมียนมา ก่อนที่ชาติชายจะผลิตผลงานที่เล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาตามมาอีกหลายเรื่อง รวมทั้งสารคดี โยเดียที่คิดไม่ถึง และละครเรื่องล่าสุด จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ที่คว้ารางวัลไปมากมาย 

ชาติชาย เกษนัส /Photo credit: ไข่แมวชีส

เขาเล่าต่อหลังฉายคลิปเบื้องหลังภาพยนตร์ From Bangkok to Mandalay ว่าเพิ่งมาเปิดดูคลิปนี้ไม่กี่วันก่อนและน้ำตาซึม ไม่คิดว่าบ้านเมืองจะพลิกผัน ในขณะเดียวกันอย่างนักแสดงในเรื่องตอนนั้นคือซูเปอร์สตาร์ แต่การที่เขาไม่ออกมาส่งเสียงร่วมต่อสู้กับประชาชนด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทำให้เขาหมดความนิยมไป และมีแต่ความเกลียดชังเข้ามาแทนที่ อีกด้านผู้กำกับภาพยนตร์ก็สะท้อนความรู้สึกว่าการทำงานในเมียนมาครึ่งนึงนั้นแทบจะต้องปิดฉากลง เพราะปกติเขาไปทำงานกับคนข้างล่าง เรื่องราวหลายอย่างที่อยู่ในบทมาจากสิ่งที่ไปเจอมาจริงๆ ซึ่งเขาย้ำว่า “คนข้างล่างนี้ต่างหากที่มีพลังที่ทำให้เราทำงานที่ยากมากๆ ได้ คือ From Bangkok to Mandalay ไม่ใช่หนังที่เพอร์เฟ็คแต่เป็นหนังที่ต้องเดินทางไปทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันการเดินทางแบบนั้นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว” ก่อนทิ้งท้ายในช่วงแรกว่าตัวเขาเองนั้นคิดถึงประเทศเมียนมามากและยังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ยังกลับบ้านไม่ได้

เมื่อพูดถึงบ้านและเสียงของคนที่ไม่ได้กลับบ้าน ด้าน อรดี อินทร์คง ได้ส่งสารถึงเพื่อนเป็นภาษาเมียนมาว่าเธอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้พวกเขา ก่อนจะเล่าถึงประสบการณ์จากการศึกษาวิจัยเรื่องเสียงและดนตรีของผู้พลัดถิ่นชาวไทใหญ่ที่ต้องอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ก่อนจะเกิดรัฐประหารล่าสุดว่า เมื่อพูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับบ้านในฝั่งรัฐฉาน ประเทศเมียนมา สิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขคือเสียงพ่อแม่ พี่น้อง คนรัก และครอบครัว รวมถึงเสียงฆ้องเสียงกลองในงานปอย แต่ขณะเดียวกันบ้านก็เป็นบาดแผลเวลาที่นึกถึงเสียงการสู้รบและความสูญเสียต่างๆ แต่ที่สะเทือนใจมากคือเธอบอกว่าแต่บางคนไม่มีแม้กระทั่งเสียงในความทรงจำเกี่ยวกับบ้านเพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาในค่ายผู้อพยพหรือว่าที่วัด 

อรดีเล่าถึงภูมิทัศน์เสียงช่วงก่อนเกิดรัฐประหารเพิ่มเติมว่าบรรยากาศทางการเมืองในเมียนมาตอนนั้นดูมีความหวังมาก แรงงานข้ามชาติหลายคนที่เธอรู้จักล้วนมีแต่มีความฝันว่าจะทำงานเก็บเงินกลับไปตั้งตัวทำธุรกิจที่บ้านเกิด แต่หลังรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 ความฝันของผู้คนดับหายไปในพริบตา เธอสนใจเรื่องเสียงของการต่อต้านมากขึ้นหลังเพื่อนชาวไทใหญ่เล่าว่าตั้งแต่เขาย้ายกลับมาที่รัฐฉาน 2-3 ปีแล้ว เขาไม่เคยรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านเลย จนกระทั่งได้ออกไปร่วมประท้วงเคาะหม้อ (ตามความเชื่อของคนเมียนมานั้นการเคาะหม้อคือการขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน) เขารู้สึกอุ่นใจขึ้นมาเมื่อเสียงจากบ้านหนึ่งดังต่อไปถึงหลังอื่น แล้วเสียงก็ดังรอบไปทั่วบริเวณที่เขาอยู่ บางวันที่ทหารข่มขู่ให้เงียบ บ้านหลังอื่นก็จะเคาะหม้อขึ้นมาทันทีเพื่อให้มันไม่เงียบ 

อรดี อินทร์คง /Photo credit: Manaswin Komolwat

“เสียงที่ทุกคนแสดงพลังออกมาร่วมกันมันคือการแสดงถึงความเป็นเจ้าของบ้าน อย่างที่เพื่อนคนไทใหญ่บอกว่าเขามีความไม่พอใจทหารพม่ามาตลอดก่อนหน้านั้น แต่มันไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่เขาได้ร่วมส่งเสียงร่วมกับคนพม่า (ชาติพันธุ์บะหม่า) มันจึงเป็นการแสดงออกถึงการเป็นเจ้าของบ้านที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ” 

นอกจากเสียงเคาะหม้อเพื่อการต่อต้าน การใช้เพลงมาสื่อสารถึงความไม่ยอมจำนนก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่คนเมียนมาใช้ในการประท้วง โดยเฉพาะแนวเพลงแร็ปที่มีพัฒนาการอย่างชัดเจน อรดียกตัวอย่างวงฮิปฮอปของเมียนมาที่ชื่อว่า ACID ซึ่งเป็นวงแรกที่แต่งเพลงออกมาในช่วงปี 2000 แล้วก็ได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงพม่าอย่างล้นหลาม ซึ่งเธอเล่าว่าความนิยมและความคุ้นเคยกับเพลงแร็ปนี้มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เรียกว่า Thangyat ซึ่งเป็นลักษณะการร้องเพื่อต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ สิ่งนี้นับเป็นวัฒนธรรมการต่อต้านผ่านศิลปะที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวพม่าตลอดมา อย่างไรก็ตาม Thangyat เป็นเพียงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์บะหม่า กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ได้มีการแสดงแบบนี้ แต่อรดีได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดผ่านเสียงว่า

“การส่งเสียงเพื่อการต่อต้านมันอยู่ในวัฒนธรรมของคนพม่าจริงๆ ไม่ว่าจะสะท้อนออกมาผ่านเสียงที่เราเห็นตั้งแต่เพลงแร็ป เสียงในการประท้วงที่ถนน ฯลฯ เขาใช้เสียงที่อยู่ในวัฒนธรรมและพร้อมที่จะแสดงออกมาทุกครั้งเมื่อมีโอกาส สิ่งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงคือวัฒนธรรมการใช้เสียงแบบนี้กระจายไปในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นด้วย ใน 3 ปี มานี้เราเห็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ออกมาทำเพลงแร็ปเยอะขึ้น แม้กระทั่งกลุ่มที่เคยต่อต้านการทำเพลงแนวนี้เพราะว่าเขาแอนตี้ความเป็นพม่าก็หันกลับมาทำเพลงแร็ปด้วย”

ด้านชาติชายเสริมว่าอย่างนักแสดงชื่อ ซาย ซาย ที่เคยร่วมงานในภาพยนตร์ของเขาก็เคยทำเพลงแร็ปแต่เป็นแร็ปแบบดั้งเดิม เมื่อเหตุการณ์มันเปลี่ยนไปแต่เขาไมได้ปรับเปลี่ยนตาม เพลงเขามันไม่ได้คุยกับผู้คนอีกต่อไป

“สุดท้ายแล้วเสียงที่มันดังขึ้นมา ถามว่าแล้วใครต้องฟัง คือวันนี้อยากจะบอกว่าจงฟังซะเถอะเพราะว่าคุณปฏิเสธไม่ได้ แล้วที่สำคัญก็คือว่ารัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันแค่เป็นเรื่องของผลประโยชน์และก็เป็นผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยๆ เพียงแต่ว่าในโครงสร้างสังคมพม่าที่มันมีแต่คนที่มีล้นฟ้ากับคนที่ไม่มีเลย มันสุดโต่งจนเกินไป ซึ่งสังคมแบบนี้สักวันหนึ่งก็ต้องล่มสลายลง” 

ตัวอย่างเพลง Blood ที่ประกอบด้วย 8 ภาษาชาติพันธุ์

อีกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือเพลง Blood ของวง Rap Against Junta ที่ออกมาในปี 2022 ซึ่งอรดีบอกว่าถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจอย่างมากเพราะนับเป็นเพลงแร็ปเพลงแรกในเมียนมาที่มีภาษาชาติพันธุ์ถึง 8 ภาษาในเพลงเดียว และในแต่ละภาษาก็จะมีเสียงเครื่องดนตรีของชาติพันธุ์นั้นๆ ใส่ไปในทำนอง เช่น ท่อนแร็ปไทใหญ่จะมีเสียงกลอง หรือท่อนภาษากะเหรี่ยงก็จะมีเสียงเตหน่า เธอยังเล่าถึงความน่าสนใจอีกอย่างคือเนื้อหาของเพลงก็จะพูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับบ้าน ซึ่งคนพม่าเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าคนชาติพันธุ์อื่นๆ นั้นต้องเผชิญกับอะไรกันบ้าง อย่างชาวโรฮิงญาก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านของเขา หรือคนไทใหญ่ก็เล่าว่าทำไมเขาถึงต้องอพยพมาที่เมืองไทย ซึ่งอรดีบอกว่า

“มันเลยเป็นสิ่งที่น่าทึ่งและเป็นครั้งแรกด้วยที่ประชาชนในเมียนมาที่ออกมาต่อต้านได้พูดถึงบ้านที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคให้คนในบ้านด้วยกันนี่แหละฟัง”

อรดีย้ำว่าตลอด 3 ปีของเสียงที่ได้ยินไม่ได้ดังอยู่แค่ในประเทศเมียนมา แต่เสียงได้ตามผู้คนไปอยู่ในทุกชุมชนคนเมียนมาทั่วโลก ในขณะที่ทหารพม่าใช้กลยุทธ์เดียวในการปราบปรามประชาชนโดยการทำให้รู้สึกกลัว แต่การต่อต้านที่ดังก้องสะท้อนชัดเจนว่าประชาชนไม่กลัวและเสียงนั้นก็ไปไกลกว่ากลยุทธ์ของทหารพม่ามาก ซึ่งเธอสรุปสิ่งที่ได้ยินคนเมียนมาส่งเสียงมาตลอด 3 ปี ด้วย 4 ข้อหลักคือ ความกล้าหาญ ความสร้างสรรค์ การเชื่อมต่อกันของผู้คนทุกชาติพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศ และสุดท้ายคือความมุ่งมั่นต่อสู้จนกว่าจะชนะ ก่อนทิ้งท้ายวงสนทนาว่า

“เสียงที่จะได้ยินต่อไปหลังจากการต่อต้านก็คือ เสียงแห่งชัยชนะของประชาชนทุกคน အရေးတော်ပုံ အောင်ရမည် (การปฏิวัติจะต้องชนะ!)”

ส่วนทางชาติชายสะท้อนว่าอีกหลักฐานที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปี คือตัวของนักดนตรี วา วา ซาน ที่จะแสดงในวันนี้เอง เขาเคยใช้เสียงบรรเลงพิณพม่าและเสียงร้องเพลงอันอ่อนหวานนุ่มนวลของเธอประกอบในภาพยนตร์ แต่วันนี้เขาเห็นคาแรคเตอร์ของเธอที่เปลี่ยนไปซึ่งมันสะท้อนโลกภายนอกกับโลกภายใน เสียงของเธอเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเสียงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเขาหวังว่า วา วา ซาน จะกลับไปร้องเพลงที่นุ่มนวลได้อีกครั้งหนึ่ง… 

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ในโลกสมัยใหม่สิ่งที่น่าจะพึงระวังก็คือว่าวันที่รบชนะแล้วจะไปยังไงกันต่อ เพราะเราเห็นบางครั้งที่ชัยชนะตามมาด้วยความล่มสลายของรัฐ ซึ่งไม่พูดถึงไม่ได้ไม่ ที่สำคัญก็คือว่ากรณีสถานการณ์แบบนี้ผมคิดว่าเราไม่ได้รบแค่กับสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้ แต่มันมีสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นด้วย

สิ่งที่เราพยายามจะรักษาที่สุดคือมิตรภาพ คือไม่ว่าจะยังไงเหตุการณ์ต่อสู้วันหนึ่งมันก็ต้องมีวันจบ แต่ตอนที่มันจบเราต้องมีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วยนะครับ เพราะไม่งั้นมันจะล่มสลายหมดเลย”

วงสนทนา Voice and Sound of the Resistance/Photo credit: ไข่แมวชีส