“แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย” ในวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองไทย

.

เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม โดย Migrant Working Group (MWG), The Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons (CRSP), Myanmar Response Network (MRN), Burma Concern และสื่อมวลชน โดย THECITIZEN.PLUS, ข่าวสามมิติ, และ The Reporters ได้ร่วมกันจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์พรรคการเมือง “ไทยในประชาคมระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคง การจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย” (Thai Political Party Roundtable: Policy Surrounding Refugees and Migrant Workers) เพื่อรับฟังนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ โดยเวทีนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองถึง 11 พรรค มาร่วมแลกเปลี่ยน ดังนี้ พรรคสามัญชน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเป็นธรรม พรรคเสมอภาค พรรคไทยสร้างไทย พรรคเส้นด้าย พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อชาติ

ในช่วงแรกทางด้านภาคประชาสังคมและนักวิชาการได้นำเสนอสถานการณ์และข้อคิดเห็นต่อพรรคการเมือง ดังนี้ กฤตพร เสมสันทัด (เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ) ให้ภาพรวมสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยว่าปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก กลุ่มแรกคือผู้หนีภัยจากการสู้รบกว่า 90,000 คน ที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ชายแดนไทย-เมียนมา ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 กลุ่มที่สองคือบุคคลที่เข้ามาลี้ภัยและประสงค์ความคุ้มครองจาก UNHCR มากกว่า 5,000 คน จากจำนวน 51 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และกลุ่มที่สามคือผู้ลี้ภัยที่มีความเปาะบางเฉพาะ เช่น กลุ่มอุยกูร์ กลุ่มโรฮิงญา รวมไปถึงกลุ่มเมียนมาที่หนีเข้ามาหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2564 จากข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ รวมทั้งการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือการถูกละเมิดสิทธิในขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย กฤตพร เสนอว่าในการจัดการผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนคือการผสมกลมกลืนไปกับสังคมไทยซึ่งเป็นทางออกที่ทางการไทยยังไม่เคยนำมาใช้ และเน้นย้ำว่าในขณะที่สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค ทั่วโลก ยังคงไม่สงบท่าทีของรัฐบาลไทยภายหลังจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้จึงมีความสำคัญต่ออนาคตผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ภูมิภาค และทั่วโลก

กฤตพร เสมสันทัด

ส่วน อดิศร เกิดมงคล (ผู้ประสานงานเครือข่าย Migrant Working Group) เน้นย้ำถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติอยู่ประมาณ 2,500,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือไทยไม่มียุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเฉพาะการรองรับสังคมผู้สูงวัยของไทย เห็นได้ชัดในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระยะเวลา 4 ปี ประเทศไทยมีมติ ครม.ในการจัดการแรงงานข้ามชาติ 17 ครั้ง เท่ากับว่าโดยเฉลี่ยแล้ว มีมติครม.ออกมาใหม่ทุก 3 เดือน นอกจากนี้อดิศรได้ชี้ประเด็นปัญหา 5 ข้อหลักที่ต้องแก้ไขคือ 1. การทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเฉพาะพรรคที่ได้ดูกระทรวงแรงงาน 2. ความล่าช้าในการประสานงานกับประเทศต้นทาง ระบบการจัดการการดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานราชการในพื้นที่ยังคงมีความยุ่งยากซับซ้อนและพยายามผลักให้กลายเป็นภาระของนายจ้างหรือระบบนายหน้า 3. ต้องมีมาตรการในเชิงกฎหมายที่จะเฝ้าระวังไม่ให้แรงงานหลุดออกจากระบบ ขณะเดียวกันจะมีการเปิดระบบจ้างแรงงานอย่างถูกกฎหมายในสถานการณ์ที่ประเทศต้นทางยังคงมีปัญหาเรื่องการเมืองอยู่ได้อย่างไร 4. ท่าทีของไทยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต้นทาง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือกรณีผู้หนีภัยจากการสู้รบและผู้ลี้ภัย รวมถึงประชาชนของทั้งสองฝั่งพื้นที่ชายแดนก็ได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้วย และ 5. เรื่องของการควบคุมโรคติดต่อชายแดน มาตรการควบคุมการลงทุนในภายประเทศเพื่อนที่ละเมิดสิทธิ์ของชุมชนในพื้นที่ต้นทางและปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งไทยยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการเรื่องนี้

อดิศร เกิดมงคล

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างภาวะผู้นำในประเทศไทยใหม่ที่เป็นความหวังและแก้ปัญหาแบบรัฐราชการ ไม่ใช่ความมั่นคงแบบเดิม โดยย้ำประเด็นหลัก 2 เรื่อง คือ 1. ต้องทบทวนเรื่องความมั่นคงอย่างจริงจัง เพราะความมั่นคงของชาติคือความมั่นคงของโลก แม้แต่เรื่องหมอกควันข้ามแดนก็เป็นเรื่องความมั่นคง เพราะฉะนั้นความมั่นคงแห่งรัฐไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นความมั่นคงที่อิสระจากการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมา และ 2. การกำหนดบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาค ไม่ใช่เพียงแค่อยากจะให้ประเทศใดมีภาพลักษณ์อย่างไร การปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริงจึงสำคัญมาก ท่ามกลางบรรยากาศของรัฐร่วมศูนย์เกินจำเป็นและกลายเป็นรัฐที่มีปัญหาคอรัปชั่นจนประเทศไทยอยู่ในสภาพที่พูดได้ว่าไม่สามารถยืนได้อย่างสง่าผ่าเผยเท่าไหร่นักในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว

ด้านตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 11 พรรค ได้ให้ข้อเสนอดังนี้

พรรคสามัญชน

ปณิธ ปวรางกูร ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่าพรรคสามัญชนมีหลักการหลัก 3 ข้อ คือ เป็นธรรม ประชาธิปไตยฐานรากที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักสิทธิมนุษยชน ในประเด็นเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นสิ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทย ซึ่งเราขาดพวกเขาไม่ได้ วิสัยทัศน์ของพรรคสามัญชนในการอพยพย้ายถิ่นนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติและมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานและประเทศต้นทาง โดยปนิธเสนอว่าต้องแก้หรือยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวฯ เพื่อเป็นการเปิดทางให้มีการรวมศูนย์หรือจัดการระบบรับแรงงานเข้ามาใหม่ หรือการได้รับสิทธิ์ของแรงงาน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ควรจำกัดเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย

ส่วนประเด็นผู้ลี้ภัย ปณิธเห็นด้วยอย่างยิ่งในการยอมรับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ และชวนมองต่อว่าผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นจากภาวะสงครามในประเทศต้นทาง การต่างประเทศไม่ใช่แค่เพียงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ต้องมีขบวนการกดดันเชิงการเมืองเข้าไปด้วย

พรรคเพื่อไทย

จาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าบทบาทการเมืองระหว่างประเทศของรัฐไทยถูกกำหนดทิศทางทั้งหมดโดยรัฐราชการ แต่ที่เป็นปัญหาอย่างมากเพราะว่าถูกกำหนดโดยรัฐราชการที่เป็นเผด็จการส่งผลต่อความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องการดูแลผู้ลี้ภัย ต่างๆ ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนที่เป็นความผิดพลาดต้องไม่ทำซ้ำ ในเรื่องเมียนมาเราก็มีนโยบายที่จะเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิบัติตามหรือช่วยผลักดัน 5 ข้อของอาเซียน  พยายามอำนวยความสะดวกให้ประชาชนองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั้งที่มาอยู่ในประเทศไทยและผู้ที่เดือดร้อนอยู่ในเมียนมา ในสถานการณ์แบบปัจจุบันโดยเฉพาะในเมียนมา เราต้องผ่อนปรนกฎหมาย ต้องถือหลักว่าไม่ผลักดันเขากลับ แล้วก็ไม่เริ่มต้นจากว่าเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่

ส่วนเรื่องแรงงานข้ามชาติ ต้องการส่งเสริมแรงงานข้ามชาติได้มีบทบาทที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ ต้องเปลี่ยนระบบใหม่ ทำกฎหมายให้ง่าย รองรับการเข้ามาโดยง่ายเพราะไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของไทย และมีความจำเป็นต้องยกระดับทักษะความชำนาญของแรงงานข้ามชาติ ส่งเสริมคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาในประเทศ ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน การเข้มงวดปิดกั้นพรมแดนบริเวณชายแดนทั้งหมดจะยิ่งให้โทษ เราต้องทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ถ้าเราไม่ทำเรื่องแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมายโดยง่ายก็จะยิ่งทำให้เกิดการทำมาหากินแบบในระบบหัวคิว หรือถ้าเราจะไปเน้นให้ต้องเข้มงวดโดยมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ยิ่งเข้าทางในการคอร์รัปชั่นเพราะทหารและตำรวจหรือตม. คือต้นเหตุของปัญหา

พรรคประชาธิปัตย์

เกียรติ สิทธีอมร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าต้องการเห็นการต่างประเทศเชิงรุก ที่ผ่านมากรณีประเทศเพื่อนบ้านเรามีผลกระทบเกิดขึ้นและเกิดการลี้ภัย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคีของสหประชาชาติหลายเรื่องมีข้อกำหนด มีกติกาอยู่แล้ว อย่างการลี้ภัยมาก็ต้องห้ามผลักดันให้เขาไปสู่อันตราย ส่วนเรื่องการย้ายถิ่นฐาน 1. การเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายแพง ไม่สะดวก และเงื่อนไขเยอะ ซึ่งในส่วนนี้ต้องปรับ และแก้ไข 2. การเข้ามาชั่วคราว มีเหตุการณ์ไม่ปกติ เราต้องดูแลเขาระหว่างที่เขาอยู่ให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็หากเขาอยากไปประเทศที่ 3 ปัญหานี้คือปัญหาของสหประชาชาติและทุกประเทศต้องมีส่วนร่วม ควรจะมาช่วยกันกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นการต่างประเทศของเราต้องเอาจริง ต้องเก่ง เชิงรุก แม่นยำ ตามกติกา กรณีเมียนมาท่าทีของไทยและท่าทีของอาเซียนอ่อนเกินไป

ส่วนประเด็นแรงงานข้ามชาติ แต่ละกระทรวงควรคุยกับภาคเอกชน ภาคการจ้างงาน องค์กร นายจ้างว่าขาดอะไร จะมีกระบวนการขั้นตอนยังไงที่จะทำให้มันเกิดขึ้น ประเทศต้องชัดเจนว่าต้องการแรงงานแบบไหน

พรรคชาติพัฒนากล้า

วรนัยน์ วาณิชกะ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนากล้า เสนอ 2 ประเด็น คือ 1. สิทธิทางกฎหมาย และ 2. สิทธิมนุษยชน ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น เช่น การค้ามนุษย์ หรือการถูกกดค่าแรง เป็นเพราะพวกเขาไม่มีสิทธิทางกฎหมาย เลยเปิดช่องให้ถูกแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะเราไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชนนี่จึงเป็นปัญหา วรนัยน์เสนอว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะมีชีวิต หนีจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาเพื่อที่จะมีลมหายใจต่อ สิทธิอย่างหนึ่งก็คือสิทธิเสรีภาพที่จะเคลื่อนย้ายไม่ใช่ถูกจำกัดเพราะว่ามีมนุษย์มาขีดพรมแดน วิธีนี้แก้ปัญหาได้โดยมีพาสปอร์ตอาเซียน เพราะฉะนั้นคุณต้องมี “right to live and freedom to move” และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา เราจะมีแรงงานของอาเซียนแข่งขันกันในตลาดเดียวกัน เราจะได้บุคลากรที่ดีที่สุดและการแข่งขันเสรีนิยมประชาธิปไตย

พรรคชาติไทยพัฒนา

ปรเมศวร์ กุมารบุญ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าวันนี้อยากมารับฟัง ซึ่งจากที่พรรคได้เปิดตัวนโยบาย WOW Thailand ไป เห็นว่านโยบายของพรรคต้องเปลี่ยนและอัพเกรดในการสร้างสวัสดิการแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้น อย่างพี่น้องเมียนมา ลาว กัมพูชา เรื่องของกฎหมายเอาไว้ก่อน ต้องยกระดับศักดิ์ศรีให้ได้ก่อน สิทธิขั้นพื้นฐานให้นึกถึงจิตใจของคนที่มาพึ่งพิง มาเจอญาติ และมีความสุขด้วยกันก่อน เรื่องเศรษฐกิจเห็นด้วยว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น กลายเป็นเรื่องดีทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศและอาเซียน จากเดิมที่กำลังเกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาพวกเขาจะเคลื่อนที่ไปตามแรงงานราคาถูก ค่าแรงของแรงงานที่ถูกจะมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศซึ่งนี่คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะชูได้ เรื่องปัญหาแรงงานข้ามชาติหรือผู้อพยพ ปรเมศวร์กล่าวว่าสิ่งที่ได้จากวันนี้สามารถการันตีได้ว่าทุกเรื่องที่พวกท่านเสนอในวันนี้จะกลับไปนำเเสนอเข้ากรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคทันที  

พรรคเป็นธรรม

กัณวีร์ สืบแสง ตัวแทนพรรคเป็นธรรม กล่าวถึงประเด็นโครงสร้างของปัญหาที่ทำให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติและ สถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยมาจากจุดยืนที่เรามองปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเป็นเรื่องภัยความมั่นคงภัยคุกคามของรัฐ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบทัศนคติโดยการใช้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เข้ามาปรับใช้  ส่วนเรื่องแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลไทยแก้ปัญหาโดยการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อเสริมความมั่นคง ต้องมองใน 4 ขาด้วยกัน คือ 1. รัฐต้องการใช้แรงงานอย่างไร 2. ที่อยู่อาศัย 3. การดูแลเรื่องสุขภาพ และ 4. ดูแลเรื่องการละเมิดสิทธิต่างๆ และจุดยืนในการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องยกเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นวาระแห่งชาติเพราะจะสามารถเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ระยะยาวได้ และที่สำคัญจะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

กรณีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องมีสะพานเชื่อมระหว่างการแก้ไขปัญหาเชิงมนุษยธรรมและการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเรามี NSM กลไกพิจารณาสถานะเกี่ยวกับบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นกำเนิดได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เรามีกฎเกณฑ์และมีระเบียบในการดูแลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย โดยกัณวีร์เสนอให้บัญญัติกฎหมายเรื่องผู้ลี้ภัย เข้าเป็นภาคีในการที่จะเป็นให้ลงนามตัวอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ 1951 พิธีสาร ค.ศ. 1967 ส่วนปัญหาค่ายผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ที่พวกเขาไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ ไม่สามารถประกอบงานอาชีพ โดยปกติในเวทีระหว่างประเทศ มี 3 ทางเลือก เรื่อง 1. ส่งกลับประเทศต้นทาง 2. การผสมผสานกลมกลืนกับพื้นที่ที่เขาลี้ภัย และ 3. ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ประเทศไทยตอนนี้ใช้การแก้ไขปัญหาแค่ 2 อย่าง คือการส่งกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจและการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม แต่การผสมผสานกลมกลืนในพื้นที่ที่ขอลี้ภัยยังไม่มีการดำเนินการเพราะเกรงกลัวเรื่องความมั่นคง ถ้าเราเปิดค่ายให้คนที่มีความประสงค์ในการทำงานได้รับอนุญาตโดยกระทรวงแรงงานซึ่งสามารถออกระเบียบให้คนทำงานได้  กฎหมายไทยบางเรื่องต้องมีความอ่อนตัว ถ้าเราเปิดค่ายภายในวันนี้เราจะมีคนไปทำงานเพิ่มขึ้น 45,000 คน และ 10,000 กว่าคนจะได้ออกมาเรียนหนังสือ แล้วพวกเขาก็สามารถที่จะส่งภาษีให้กับรัฐบาลไทยได้ คิดดู 50,000 กว่าคนแต่ละปีผู้ประกอบการรวมทั้งผู้ทำงานต้องเสียภาษีกับรัฐเท่าไหร่ ถ้าคิดเป็นนักการเมืองคนในค่าย 91,000 คน ส.ส.สามารถได้ 4-5 ที่นั่ง แต่ถ้าคิดแบบนักมนุษยธรรม หนึ่งชีวิตมีค่าแล้ว เพราะฉะนั้นเปิดค่ายแล้วค่ายจะปิดค่ายเองนี่คือการแก้ไขปัญหาที่พรรคเป็นธรรมจะเสนอ

พรรคเสมอภาค

นาดา ไชยจิตต์ ตัวแทนพรรคเสมอภาค กล่าวว่าเวลาที่รัฐไทยต้องนำตัวเองเข้าไปผูกพันเป็นอนุภาคีตามอนุสัญญาได้ต้องจัดทำในฐานะรัฐบาลจึงไม่ใช่เรื่องของพรรคเล็กเพียงพรรคเดียว เราสามารถที่จะสร้างประชาคมพรรคการเมืองและเห็นพ้องต้องกันได้หรือไม่ว่าต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัยและผลักดันให้ประเทศไทยถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ในอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิเด็ก เพราะเป็นข้อสงวนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยโดยตรง โดยนาดาเสนอ 3 จิ๊กซอ ตัวที่ 1 คือพันธะกรณีระหว่างประเทศ เมื่อรับมาแล้วต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ตัวที่ 2 กฎหมายภายในประเทศ ไทยรับเอาตัวเองเข้าไปผูกพันสัญญาแล้วก็ต้องพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกันด้วย ตัวที่ 3 การออกกฎหมายบังคับใช้ ต้องผลักดันให้แผนสิทธิมนุษยชนเป็นแผนเกรด a ต้องผลักดันให้มีการทำ human rights due diligence หรือการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน รวมไปถึงเรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดนได้ด้วย

ส่วนประเด็นแรงงาน พรรคต้องการผลักดันให้แรงงานทั้งในระบบนอกระบบและแรงงานข้ามชาติใช้มาตรฐานฉบับเดียวกัน และส่งเสริมพัฒนาแรงงานระดับอาเซียนเพื่อให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติได้รับการพัฒนาเป็นแรงงานทักษะและส่งออกแล้วนำเงินตรามาเข้าสู่ประเทศและระดับภูมิภาค คนที่อยู่ในระบบและในแคมป์ผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน หลังจากฟื้นฟูสภาพจิตใจ ให้กำหนดตามเจตจำนงถ้าอยากกลับประเทศหรือไปประเทศที่สามก็ใช้หลักการทูต แต่หากอยากอยู่ในประเทศไทยก็พัฒนาส่งเสริมทักษะแรงงาน เพราะไม่ว่าใครก็ตามต่างก็อยากทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และนี่คือทางออกที่ยั่งยืน

พรรคไทยสร้างไทย

น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทยกล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จุดยืนของประชาคมโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องพูดคุยกับประเทศต้นทางที่ส่งออกผู้ลี้ภัย ส่วนประเทศที่สองและสามก็ต้องมีการจัดสรรการแก้ปัญหาร่วมกัน 2. ประเทศไทยควรจะตอบสนองประชาชนแล้วก็ควรจะมีจุดยืนอย่างไร  จากที่ผ่านมาเราได้ไปเป็นเซ็นอนุสัญญา 2 ฉบับ ต้องออก พ.ร.ก.อุ้มหาย เพื่อตอบสนองใน 2 เรื่องคือเรื่องของการซ้อมทรมานและการสูญหาย จะมีผลบังคับใช้เดือนตุลาคมนี้ แต่ก็ถูกเลื่อนโดยอ้างว่าเราไม่พร้อมในเรื่องกล้อง CCTV แล้วก็ประชากรที่อยู่ในเขตของศาลทหารไม่สามารถนำขึ้นศาลพลเรือนได้ ซึ่งประพฤติปฏิบัตินี่ผิดหลักการอย่างยิ่ง และ 3. ท่าทีของผู้นำประเทศซึ่งส่งผลอย่างยิ่งกับการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ การออกกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมา เช่น กรณีเครื่องบินรบของเมียนมาล้ำพรมแดนเป็นเรื่องการขยิบตาให้กับเพื่อนบ้านในเรื่องการไปปราบปรามชนกลุ่มน้อยเป็นสิ่งที่ไทยจำเป็นต้องแก้ไข และรัฐบาลที่ดีต้องรับฟังพี่น้องประชาชน  

พรรคเส้นด้าย

คริสต์ โปตระนันทน์ ตัวแทนพรรคเส้นด้าย เสนอแนวคิด 3 อย่าง 1. การกำจัดระบบเส้นสายจากประเทศไทย 2. ทำสิ่งที่เราพูดในทุกเวที เอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และ 3. ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และจะพูดว่าคุณเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เลยถ้าคุณไม่ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนประเด็นแรงงานข้ามชาติ คริสต์เสนอว่าควรเปลี่ยนเงินรีดไถที่แรงงานต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่นอกกฎหมายกลับมาเป็นภาษีให้รัฐ หากเรามองแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องของภัยความมั่นคง เป็นเรื่องที่เขามากินมาอยู่ในประเทศฟรีๆ ในความเป็นจริงคนเหล่านี้พูดได้ว่าอาจจะเป็นอนาคตให้กับประเทศที่กำลังเข้าสู่แรงงานผู้สูงอายุ เราควรจะพูดกันว่าเป็นไปได้ไหมให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เสียภาษี 10 ปีหรือ 15 ปี แล้วพัฒนาสิทธิต่างๆ ต่อไป และเสนอว่าไทยควรต้องปิดชายแดนจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศก่อนแล้วจึงเปิดรับอย่างมีกลไกจัดการต่อไป สิ่งที่เสนอก็คือการแก้พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ. แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และทหารต้องกลับไปทำหน้าที่ หากเราทำแรงงานให้ถูกกฎหมายโดยง่าย เราสามารถเก็บค่าหัวคิวที่เขาเก็บในทุกวันนี้ มาเป็นภาษีสำหรับประเทศไทยได้อีกเยอะ ส่วนเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องนี้ต้องออกกฎหมาย พ.ร.บ. ผู้ลี้ภัย แล้วให้เขาพิสูจน์เคสของเขาว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าเขาเป็นผู้ลี้ภัยจริงเราให้สถานะเขาอยู่ได้

พรรคก้าวไกล

ชลธิชา แจ้งเร็ว ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีผู้ลี้ภัยว่าประเทศไทยเองไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าเราจะเอายังไงกับพวกเขา เสนอว่าต้องใช้มุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศแทนกรอบความมั่นคงแบบเดิมๆ ควรทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันในประเทศอาเซียน และการปรับเปลี่ยนมุมมองนโยบายการต่างประเทศ คือการไม่ดำเนินนโยบายแบบปกปิดความลับ ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ชลธิชาเสนอนโยบายเรื่องผู้ลี้ภัยว่าพวกเขาต้องเข้าถึงสิทธิทั้งในเรื่องการศึกษา การแพทย์ การประกอบอาชีพต่างๆ และเน้นย้ำในเรื่องของหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย สำหรับ NSM ต้องกลับมาทบทวนว่า NSM ฉบับนี้ได้มาตรฐานสากลจริงหรือไม่ และสุดท้ายรัฐต้องไม่ขัดขวางการช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรม ความเชื่อเดิมๆ เรื่องผู้ลี้ภัยจะเป็นภาระแก่คนในประเทศจำเป็นต้องถูกลบล้าง

ส่วนประเด็นแรงงาน ชลธิชาเสนอว่า สิทธิของแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยต้องเท่าเทียมกัน แรงงานข้ามชาติจำนวนมากจ่ายเงินสมทบไปในประกันสังคมแต่ว่าสิทธิไม่เท่ากับคนไทย รัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือทำให้กลไกของการเข้าถึงการจ้างงานแรงงานข้ามชาติลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง และรัฐไทยต้องลงนามในอนุสัญญา ILO (International Labour Organization) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมอำนาจการต่อรองในการรวมกลุ่มและสร้างความเข้มแข็งของสภาพแรงงาน สุดท้ายประเทศไทยต้องมีแผนปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองการลงทุนและสิทธิของแรงงานได้จริง รวมทั้งคุ้มครองและปกป้องสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย

พรรคเพื่อชาติ

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ตัวแทนพรรคเพื่อชาติ เสนอว่าอุดมการณ์ของพรรคเพื่อชาติคือการมีส่วนร่วมของประชาชนและพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิ่งแรกที่อยากจะผลักดันคือจะแสดงความจริงใจในการลงนามอนุสัญญาต่างๆ ที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก การบังคับสูญหาย ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ใช้หัวใจในการบริหารประเทศรวมถึงปกป้องคุ้มครองมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน รวมถึงผลักดันกฏหมายในประเทศให้สอดรับกับอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ส่วนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาควรมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจด้วยว่าจะกำหนดชีวิตของตัวเองอย่างไร เรื่องที่ 2 ก็คือเรื่องของการศึกษา สิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะสามารถทำให้ได้เป็นทักษะที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต เขาจะอยู่รอดได้ไม่ว่าจะออกไปจากค่าย หรือจะกลับประเทศ หรือจะมาเป็นแรงงานที่มีส่วนขับเคลื่อนในเศรษฐกิจในประเทศก็ตาม

เรื่องแรงงานข้ามชาติ 1. ต้องมีการเร่งรัดในการจัดทำประวัติบุคคลให้กลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ การที่ทำให้เร็วขึ้นมันคือการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนและทำให้ชีวิตคนดีขึ้น 2. จัดตั้ง one stop service บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานให้ออกไปอนุญาตทำงานได้เร็ว แล้วก็ระบุจำนวนเงินค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการและแรงงานจะได้รู้ต้นทุน 3. กระจายอำนาจไปแต่ละพื้นที่ในการจัดการตัวเอง หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการเอกชน ภาคประชาสังคม จะรู้ว่าตลาดแรงงานของเขาต้องการอะไร แล้วก็ออกแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ และการให้สัตยาบันใน ILO

คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ดำเนินรายการได้สรุปปิดท้ายว่าเวทีในวันนี้เป็นประเด็นที่ดีมากๆ แล้วก็มีความหวังสำหรับคนที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ซึ่งสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองพูดนั้นเป็นประโยชน์และไม่ว่าพรรคไหนที่จะได้มีโอกาสเป็นส.ส.ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทุกคนก็คือฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายต่างๆ อยากฝากให้ทำตามประเด็นที่แต่ละคนนำเสนอมาและช่วยกันกับภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ขอบคุณภาพถ่ายจาก Niracha Rayapet