“นิเวศอาหาร วิถีวัฒนธรรม ความยั่งยืน” ความเชื่อมโยงของพี่น้องชาวเลในไทยและทวายกับการปกป้องสิทธิและทรัพยากร

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา SEM ได้จัดงาน “คิดถึงทวาย: ตัวอยู่ไกล ใจอยู่บ้าน” ขึ้น ณ ณ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 หลังจากที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และต่อด้วยรัฐประหารในเมียนมา ทำให้เราและพี่น้องทวายไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ SEM จัดมาอย่างต่อเนื่องโดยก่อนหน้านี้ใช้ชื่องานว่า “หลงรักทวาย”

หนึ่งในการแสดงจากชาวทวาย

ทวาย เป็นชุมชนทางใต้ของประเทศเมียนมาที่ SEM ทำงานใกล้ชิดมานานหลายปี และมีการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวทวายและภาคประชาสังคม และชาวเลในภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยมาก่อนหน้านี้ ในงานนี้ถือเป็นโอกาสที่พี่น้องสองฝั่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงถึงความร่วมมือกันอีกครั้งหลังจากเราไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยวงเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก วิทวัส เทพสง และ อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลจากจังหวัดพังงา ร่วมกับ Phyo Sanndar Lin และ ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล ตัวแทนชาวทวาย  มาร่วมแลกเปลี่ยน และมี นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ จากเครือข่าย Toward Organic Asia เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ เครือข่าย Toward Organic Asia ผู้ดำเนินการเสวนา

ประภาพร ปรียาภัสวรสกุล หนึ่งในลูกหลานชาวทวายที่เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองประเทศอยู่เสมอ เล่าถึงงานครั้งนี้ว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ทางพี่น้องชาวเลจากพังงาเอาปลามาฝากพี่น้องในงาน เพราะปลาคือวัตถุดิบหลักซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางอาหารที่พวกเรามีคล้ายกัน และเล่าต่อถึงความจำวัยเด็กว่า “สิ่งสวยงามที่เป็นภาพจดจำตั้งแต่เด็กๆ คือทะเลทวายสวยงาม ได้กินอาหารทะเลที่สมบูรณ์และราคาถูก เรายังอยากเห็นภาพนี้อยู่ เช่นกันเวลาไปเที่ยวหาพี่ๆ ที่ภาคใต้ก็ได้กินอาหารทะเลที่อร่อยและทะเลที่สวย พอได้ยินว่าจะมีโครงการต่างๆ เข้ามาหรือนโยบายรัฐจะมาเปลี่ยนแปลง เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เราอยากให้ภาพจำของเราอยู่กับเราไปตลอดและอยากรักษาสิทธิ์ที่เราต้องมีให้อยู่กับเราต่อไป”

เวทีเสวนา เรื่อง นิเวศอาหาร วิถีวัฒนธรรม ความยั่งยืน ความเชื่อมโยงของพี่น้องชาวเลในไทยและทวายกับการปกป้องสิทธิและทรัพยากร

และเมื่อพูดถึงความเชื่อมโยงของชาวเลทั้งสองฝั่ง วิทวัส เทพสง ชาวมอแกนจากจังหวัดพังงาเล่าว่า “เมื่อก่อนแผ่นดินเราเคยมีอิสระและกว้างไกล เมื่อก่อนในฝั่งอันดามันไปได้หมด ไปจนถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า จนสุดท้ายคนมอแกนเพิ่งมาได้รู้ว่าแผ่นดินมันถูกแบ่งแยก อันนู้นเป็นพม่า อันนู้นเป็นมอแกน…ที่พูดถึงเพราะเราเห็นพี่น้องไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งพม่ากับฝั่งไทย เมื่อก่อนเขามีบัตรอะไรสักอย่างของคนทั้งสองฝั่ง มันทำให้เราเข้าใจว่าทะเลที่มันกว้างมันอยู่กับแบบอิสระแบบภูมินิเวศมันถูกเปลี่ยนโดยการปกครอง เปลี่ยนจากระบบนิเวศมาเป็นการปกครองแบบเมือง” ซึ่งวิทวัสเน้นย้ำว่าแท้จริงแล้วชาวมอแกนทั้งสองฝั่งนั้น เราคือสายเลือดเดียวกัน

เมื่อก่อนแผ่นดินเราเคยมีอิสระและกว้างไกล เมื่อก่อนในฝั่งอันดามันไปได้หมด ไปจนถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า จนสุดท้ายคนมอแกนเพิ่งมาได้รู้ว่าแผ่นดินมันถูกแบ่งแยก

จากที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองตามรัฐสมัยใหม่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยอยู่มาก่อนอย่างอิสระอย่างมาก วิทวัสเล่าว่า  “สิ่งแรกที่เกิดขึ้นเลยคือการที่มีกฎหมายประกาศออกมาเพื่อกำหนดว่าทรัพยากร ที่ดิน วัฒนธรรมต่างๆ ต้องเป็นยังไง ที่ดินตรงนี้นะต้องมีเอกสารสิทธิ์ ที่ดินตรงนี้เป็นเขตอุทยาน ที่ดินตรงนี้เป็นป่าสงวน ที่ดินไว้สำหรับทำแร่ให้เอกชน ทะเลตรงนี้ไว้สำหรับอวนลุนอวนลากออกมาทำได้ อันนี้คือกฎหมายที่ออกมาทั้งหมด เรามักจะพูดว่าเราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เพื่อที่จะไปร่วมกำหนดว่าการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน วัฒนธรรม และผู้คน มันจะต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน แต่พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เคยได้มีโอกาสไปกำหนด เขากำหนดกันมาเอง อย่างเวลาขีดเส้นอุทยาน เขานั่งขีดกันในห้อง แล้วค่อยมาหากันทีหลัง อย่างกฎหมายอุทยานนี่แปลกนะ เขาอนุรักษ์ ไส้เดือน กิ้งกือ ต้นไม้ใบหญ้า แต่ชาวเลที่อยู่ข้างในซึ่งถูกสำรวจค้นพบมาพร้อมๆ กับต้นไม้พวกนั้นไม่ได้ถูกอนุรักษ์ไปด้วย พอออกมามีส่วนร่วมก็ถูกมองเป็นปฏิปักษ์ คืออยากจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลว่ากฎหมายเขียนอย่างนี้เถอะ พอเดินออกมาหน้ารัฐสภาหน้าทำเนียบ เดินออกมาก็เป็นปฏิปักษ์ทันที สุดท้ายแล้วพวกเราอยากให้รัฐบาลหยุดสถานการณ์ปัญหาทั้งหมดด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกฎหมายใหม่ แต่พอเราพูดว่าปฏิรูปปุ๊บประเทศก็ถูกยึดอำนาจ”

อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลจากจังหวัดพังงา เสริมว่า “ตอนนี้พี่น้องชาวเลมีคดีติดตัวจากกรณีปัญหาที่ดินร้อยกว่าคดีแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น สิ่งที่พวกเราถูกกระทำไม่ใช่ว่าพวกเราเป็นผู้บุกรุกเลย พวกเราเป็นผู้บุกเบิก…นโยบายการท่องเที่ยวหรือนโยบายของอุทยานของรัฐที่ออกมาที่พวกเราไม่มีโอกาสไม่มีส่วนร่วมในการกำหนด อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราไม่อยากให้เกิดขึ้น พวกเราไม่รับรู้ด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อมันเกิดนโยบายและเราไม่ใช่ผู้กำหนด คนที่จะลุกขึ้นมากำหนดมาบอกก็คือพวกเรา เราก็ออกมาบอกกับรัฐว่าเราถูกกระทำ”

อรวรรณ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนชาวเลจากจังหวัดพังงา

ปัญหาเรื่องของสิทธิของชาวเลและสิทธิในทรัพยากร รวมทั้งกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั้น ชาวเลในทวายก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน Phyo Sanndar Lin นักวิจัยชาวทวายเล่าว่า “สถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมในเขตตะนาวศรีหลักๆ เป็นเรื่องของประมงและทะเล แล้วอาชีพหลักๆ ในทวายเลยคือการทำประมงของพี่น้องทั้งประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึกซี่งเป็นปัญหาที่มีมานานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารถึงตอนนี้ สิ่งสำคัญที่พี่น้องชาวเลเจอคือการมีข้อกฎหมายที่ออกโดยส่วนกลาง เป็นกฎหมายเกี่ยวกับทะเลออกโดยคนที่ไม่เคยเห็นทะเล ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1993 ถึงตอนนี้ปี 2022 แล้วไม่เคยแก้ไข เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนในพื้นที่มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมสิทธิต่างๆ เลย”

สิ่งสำคัญที่พี่น้องชาวเลเจอคือการมีข้อกฎหมายที่ออกโดยส่วนกลาง เป็นกฎหมายเกี่ยวกับทะเลออกโดยคนที่ไม่เคยเห็นทะเล

และเพื่อปกป้องนิเวศอาหาร วิถีวัฒนธรรม เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร อรวรรณ ได้แลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์การต่อสู้และยืนหยัดในสิทธิของชาวเลว่าตอนนี้ชุมชนชาวเลได้ทำเรื่อง ‘มอแกนพาเที่ยว’ ที่จะทำให้เห็นว่าชาวเลสามารถปกป้องตัวเองได้รวมทั้งยังเป็นแหล่งภูมิปัญญาความรู้ที่แม้แต่ชาวต่างชาติก็ต้องมาเรียนรู้จากพวกเธอ นอกจากนี้เธอยังเล่าว่า “เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงานรวมญาติชาวเลทั้งอันดามัน เรามีการวางหมุดประกาศเขตคุ้มครองเป็นที่แรกของพี่น้องชาวเลในอันดามัน หมายถึงว่ารัฐ หน่วยงาน ชุมชน ท้องถิ่น ต้องลุกขึ้นมาปกป้อง ให้ชาวเลมีส่วนร่วมได้กำหนดพื้นที่ของพวกเรา รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมการศึกษาต่างๆ และการลดอคติในสังคม ต้องลุกขึ้นมาจับมือร่วมกัน อันนี้คิดว่านี่คือทางออกของประเทศไทย เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่รอรับการช่วยเหลือ แต่เราจะร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน”

เราไม่ได้เป็นคนที่รอรับการช่วยเหลือ แต่เราจะร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน”

อรวรรณ หาญทะเล

ในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยน วิทวัสยังเสริมอีกว่า “เราต้องมาเชื่อมร้อยกันทั้งอันดามัน ทำแผนกัน เพื่อบ่งบอกกับเวทีโลกว่าพวกเราอยากมีชีวิตที่มั่นคงบนฐานวิถีวัฒนธรรมตามศักยภาพของพวกเรา เราไม่มีประสบการณ์อะไรมาก เราเอาตัวตน วัฒนธรรม เอาเพื่อนที่มีมาสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนโครงสร้าง เราสู้เพื่อที่จะได้รัฐธรรมนูญ เราสู้เพื่อที่จะได้กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ เราสู้เพื่อที่จะได้เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เราสู้มาทั้งหมดเพื่อที่เราจะได้อยู่อย่างสอดคคล้องกับกฎหมายและร่วมพัฒนาประเทศไทย เราหยิบยกเรื่องของทวายและชาวเลในอันดามันมาในที่สาธารณะเพื่อจะบอกว่ามันไม่ใช่วันธรรมที่แตกต่าง แต่คือความหลากหลายในท้องทะเลอันดามันของพวกเรา สุดท้ายเราก็ไม่ต้องออกมาชุมนุมเป็นครั้งๆ เพื่อให้ใครมาทำรัฐประหารเป็นครั้งๆ แล้วประเทศก็ไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย”

เราหยิบยกเรื่องของทวายและชาวเลในอันดามันมาในที่สาธารณะเพื่อจะบอกว่ามันไม่ใช่วันธรรมที่แตกต่าง แต่คือความหลากหลายในท้องทะเลอันดามันของพวกเรา

วิทวัส เทพสง