แรงงานทวาย: ชีวิต ตัวตน และการประกอบร่างความฝัน

แรงงานทวาย ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาหางานทำและสร้างเนื้อตัวไปจนถึงปักหลักชั่วคราวในไทยด้วยเหตุผลจากความยากจนข้นแค้นและภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ รวมทั้งค่าจ้างที่ตกต่ำอย่างมากไม่ต่างจากแรงงานชาวเมียนมากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ซึ่งเป็นผลพวงจากการบริหารประเทศของคณะเผด็จการทหารเมียนมาที่ยาวนานซึ่งรวบอำนาจการปกครองประเทศและพรากความเป็นประชาธิปไตยไปจากพวกเขามายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ นอกจากนั้นแล้วการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนเนื่องด้วยเหตุการณ์การประท้วงใหญ่ในปี 2531 (1988) และการล้มการเลือกตั้งในปี 2553 (1990) ที่ส่งผลให้เมียนมาถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเหมารวมโดยการกีดกันและตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดการค้าสำคัญของโลก แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเมียนมาจะสามารถปฏิรูปไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยได้สำเร็จ แต่กระบวนการประชาธิปไตยก็กลับมาถูกตัดตอนโดยการรัฐประหารที่ทำให้สภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับหวนคืนสู่การปกครองภายใต้กองทัพอีกครั้ง นั่นจึงส่งผลให้แรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมาจากทั่วทุกมุมโลกที่มีความหวังและความฝันในการสร้างชาติและกลับไปลงหลักปักฐานในประเทศบ้านเกิดเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ที่แย่ไปกว่านั้นเมียนมาและไทยเองก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้แรงงานเพื่อนบ้านชาวเมียนมา รวมถึงแรงงานชาวทวายต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่มั่นคงอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตในต่างแดน 

ปกหน้า

รายงาน “แรงงานทวาย: ชีวิต ตัวตน และการประกอบร่างความฝัน” ฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจและศึกษาวิถีและชีวิต รวมถึงความพยามในการสร้างตัวตนและการดำเนินรอยตามความตั้งใจและเป้าหมายชีวิตในการมีอนาคตที่ดีกว่าการมีสถานะเป็นแรงงานเพื่อนบ้านของแรงงานชาวทวายที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดไผ่ตัน ในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จำนวน 17 คน เกือบ 10% ของจำนวนแรงงานชาวทวายในพื้นที่ดังกล่าว ผ่านการเข้าร่วมอบรมจำนวน 4 ครั้ง และ 1 กิจกรรมใหญ่ โดยเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม การสัมภาษณ์เชิงลึกและการร่วมกิจกรรมการอบรมของเสมสิกขาลัย มาวิเคราะห์และเรียบเรียงเพื่อให้อย่างน้อยที่สุดรายงานฉบับนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อของคนที่ถูกรัฐมองข้ามและถูกกระทำว่าเป็นคนอื่นในเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์แห่งชาติภายใต้เหตุการณ์ปัจจุบันที่สำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์หลัก หนึ่ง การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และ สอง การรัฐประหารในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 อีกทั้งเพื่อเป็นการสำรวจความพึงพอใจของแรงงานชาวทวายผู้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับโครงการอบรมในครั้งนี้ที่ได้ออกแบบร่วมกันเพื่อเป็นพื้นที่และเครื่องมือในการรวมกลุ่มทางสังคมที่จะช่วยผลักดันให้เสียงของพวกเขามีพลังในการต่อรองกับรัฐและแสดงออกถึงความต้องการของตัวเองได้มากขึ้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการอบรมดังกล่าวจะช่วยส่วนหนึ่งในการประกอบร่างความฝันในขั้นต้น รวมถึงเพื่อเป็นประโยชน์ในการคิดต่อยอดสำหรับการออกแบบพื้นที่และเครื่องมือการอบรมที่จะช่วยผลักดันส่งเสริมให้แรงงานชาวทวายสานต่อความฝันและบรรลุเป้าหมายในการกลับไปสร้างตัวที่ประเทศบ้านเกิดได้ในอนาคต

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่