“Where Do We Go Now?” ก่อร่างสร้างใหม่อนาคตเมียนมา-ไทย ที่อยากไปถึง

1 กุมภาพันธ์ 2021 หลังกองทัพพม่าก่อโศกนาฏกรรมอีกครั้ง ย้ำสะท้อนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในเมียนมาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี ตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราช ตั้งแต่นั้นประชาชนในเขตแดนอำนาจใหม่ของประเทศก็ได้ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการมาโดยตลอด และระหว่างทางของการต่อสู้เพื่ออนาคตที่สดใสกว่า เราจะเอายังไงต่อ?  เราจะไปทางไหนดี? เป็นคำถามที่ SEM ชวนคุยมาตั้งแต่ครบรอบรัฐประหารเมียนมาปีแรก ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประชาชนเมียนมาต้องการแรงสนับสนุนอย่างมากจากเพื่อนนานาชาติ การต่อสู้ระลอกใหม่เดินทางมา 2 ปี ผ่านการลองทำทุกวิถีทางที่แรงประชาชนจะร่วมกันได้ เรากลับมาถามคำถามเดิมอีกครั้ง…กับผู้คนในขบวนการต่อสู้ กับผู้ที่กำลังลงแรงลงใจร่วมกันก่อร่างสร้างอนาคตใหม่นี้

วาระครบรอบ 2 ปีรัฐประหารเมียนมา SEM และเพื่อนเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงาน “Myanmar Film Nights 2023” ขึ้นมา เพื่อพาผู้ชมไปรับฟังเสียงต่างๆ จากใน/เกี่ยวกับประเทศเมียนมาผ่านเรื่องเล่าในภาพยนตร์ที่พยายามคัดสรรมาอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเสียงจากกะฉิ่น คะเรนนี กะเหรี่ยง ฉาน พม่า โรฮิงญา พม่า โดยจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ไปเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2023 และเดินทางมาต่อกันที่เชียงใหม่ในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังฉายภาพยนตร์ที่เชียงใหม่ก็มีวงสนทนา “Where Do we Go Now?” โดยได้รับเกียรติจาก ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รามิล – ศิวะ วิธญ นักเคลื่อนไหวไทยและตัวแทนสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยน และมี กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ

เราเพิ่งผ่านวันครบรอบการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนเมียนมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมียนมาตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง 

ศิรดา : จากหนังที่เราได้ดูไปจะได้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับประชาชน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหาร สองปีที่ผ่านมาประชาชนต้องต่อสู้มาโดยตลอด ฝั่งของกองทัพพม่าก็พยามที่จะสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นว่าวิธีการที่เขาใช้เป็นการกดขี่และใช้เครื่องมือที่มีความรุนแรงกับประชาชน เพราะในเบื้องต้นเขาคิดว่าถ้าใช้ความรุนแรงเหล่านี้ประชาชนจะหวาดกลัวและไม่สู้อีกต่อไป แต่ปรากฏว่าประชาชนเลือกที่จะต่อสู้ต่อ ทำให้สองปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นเรื่องราวความพยายามของภาคประชาชนและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เป็นฝ่ายต่อต้านการสถาปนาอำนาจของกองทัพพม่า

นอกจากนี้กองทัพพม่ายังใช้เครื่องมือทางกฏหมาย อ้างอิงไปถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 ว่าการทำรัฐประหารและการประกาศสภาวะฉุกเฉินมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้แต่ทางกฏหมายเองก็ไม่สามารถมองได้ว่ามันชอบธรรม รวมถึงเครื่องมือทางการเมืองก็คือความพยายามที่จะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์แล้วก็มีเรื่องที่จะจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นความพยามสร้างความชอบธรรมกับภายนอกด้วยการบอกว่าเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่ในความเป็นจริงที่เกิดกับสังคมพม่า ณ ตอนนี้ มันยังมีความรุนแรงมากกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศ เราจะเห็นรูปแบบการต่อสู้ของประชาชนหลากหลาย แรกเริ่มเป็น CDM (Civil Disobedience Movement) ซึ่งยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน หรือการที่ Gen-Z คนรุ่นใหม่ บางส่วนเลือกที่จะเข้าป่าร่วมมือกับบางกลุ่มชาติพันธุ์ บางส่วนก็ไปเข้าร่วมกับ PDF (People’s Defence Force) ซึ่งเขาอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก ทีนี้เราก็ต้องมาพูดคุยกันว่าเราจะมีทางเลือกอื่นอีกไหมให้กับผู้ที่จะต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริง

ศิรดา เขมานิฏฐาไท

เมื่อพูดถึง Civil Disobedience Movement และ Gen-Z การถูกใช้ความรุนแรงและกฎหมายเล่นงานคนเห็นต่าง ในฐานะที่เป็นผู้นำนักศึกษาแล้วก็เป็นประชาชนคนไทยที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับประชาธิปไตยเหมือนกัน มีมุมมองอย่างไรกับการที่รัฐใช้อำนาจกับประชาชนแล้วเริ่มแสวงหาความชอบธรรมอย่างไม่ชอบธรรมจริงๆ

รามิล : จริงๆ พอพูดถึงเรื่องพม่า ในความเข้าใจของผมการต่อสู้ครั้งนี้ความรับรู้ของคนไม่ได้อยู่ที่ย่างกุ้งที่เดียว มันมีการรับรู้ไปถึงด้านอื่นๆ หรือคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ผมคิดว่ามันก็เชื่อมโยงกับในบริบทของไทยอย่างหนึ่งก็คือในแต่ละพื้นที่ของประเทศมันมีประเด็นของตัวเองที่กำลังต่อสู้เรียกร้องอยู่ แต่ว่าเราจะจินตนาการไม่ออกในบริบทที่คนในประเทศพม่าเจอ ดูเหมือนว่ารัฐไทยจะมียางอายต่อนานาชาติที่จะไม่ใช้วิธีการแบบนั้น แต่จะไปใช้ในเรื่องของกฎหมายแทนเพื่อจัดการคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมีการออกกฏหมายและยังไม่ให้ประกันตัว แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่ามันก็เหมือนจะไม่ใช่รัฐนะ แต่มันก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ดีกับรัฐ เช่นพวกหน่วยงานรัฐนี่แหละ (ผมจะไม่บอกแล้วกันว่าเป็นมหาวิทยาลัย อะไรแบบนี้เนอะ ไม่บอกแล้วกัน)

อย่างเวลาที่มีการเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้นซึ่งมาจากนักศึกษา มหาวิทยาลัยเองมีความเป็นห่วงเป็นใยนักศึกษาที่เคลื่อนไหว จึงเรียกไปคุย อย่าลืมนะครับว่ามหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานรัฐนะครับ เรียกไปคุยเนี่ยเป็นอำนาจป่าเถื่อนนะครับ เขาอาจจะเป็นห่วงเราก็ได้ว่าไปทำจริงไหม เกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่อย่างหนึ่งคือมันเป็นการทำตัวลับๆ ล่อๆ ถ้าจะให้ไปคุย ก็ควรจะได้คุยอย่างเป็นกิจลักษณะ หมายความว่าถ้ามหาวิทยาลัยมีความเป็นห่วงเป็นใยเราจริง ก็ต้องเปิดเผยได้ว่าเขาเรียกเราไปด้วยจุดมุ่งหมายอะไร

ผมคิดว่าถึงดูเหมือนจะชอบธรรม แต่ผมว่าไม่ต้องไปให้ความชอบธรรมกับรัฐ รัฐไม่มีความชอบธรรมที่จะมาใช้ความรุนแรงกับเราอยู่แล้ว มันต้องยืนยันแบบนี้เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราจะอยู่กันยังไง แล้วก็จะมองภาพ ‘อย่างนี้สมควรอยู่แล้วเพราะมึงทำอย่างนี้ไง รัฐก็เลยใช้ความรุนแรง’ กันยังไง

หรืออย่างกรณีที่ดินแดงก็มีการปราบปรามจากรัฐอย่างหนัก การใช้กระสุนยาง การใช้แก๊สน้ำตา การมีคฝ. การเอารถคุมฝูงชนออกมาใช้ อันหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักให้ได้เลยคือว่าของพวกนี้มันไม่ได้อยู่ในสถานีตำรวจ ถ้าไม่มีคำสั่งมันทำไม่ได้ หมายความว่ารัฐคิดไว้แล้วว่าจะใช้สิ่งนี้ในการจัดการ ยังจะต้องมานั่งเถียงนั่งคุยกันอีกหรอว่าเพราะผู้ชุมนุมในดินแดนใช้ความรุนแรงไง เข้าไปต่อยคฝ. เข้าไปจุดประทัด เขาก็เลยอ้างความชอบธรรม ซึ่งมันไม่มี เราต้องรู้ด้วยว่าการที่เขาเอาออกมาจัดการวันนั้นน่ะ คือมันคิดไว้แล้วว่าจะทำยังไง หมายความว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรที่ดินแดงอยู่ รัฐก็จะจับอันนู้นหยิบอันนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งสิ่งนี้มันไม่ถูกต้อง 

รามิล – ศิวะ วิธญ

พอพูดถึงปัญหาความรุนแรงที่มันเกิดจากประชาชนชาวเมียนมาบ้าง ชาวไทยบ้าง เหมือนว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกันมากกว่าแค่กายภาพ ทีนี้พอเราพูดถึงความรุนแรงและปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา มันเป็นมายังไง

ศิรดา : ปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่าไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นเพราะการรัฐประหารของกองทัพพม่าที่พยายามจะล้มผลการเลือกตั้งที่ NLD ชนะแบบแลนด์สไลด์ มันยังมีปัญหาที่ฝังรากมาตั้งแต่การได้รับเอกราช กระบวนการสร้างรัฐชาติของพม่า มีปัญหา มันไม่ได้ inclusive มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความเป็นจริงในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ และการที่มีชาติพันธุ์พม่านำโดยกองทัพพม่าพยายามจัดการการเมืองทุกอย่างแบบบนลงล่าง พยามควบคุมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางผ่านเครื่องมือทางกฏหมาย มันยิ่งตอกย้ำว่าพวกชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นชายขอบ

ตลอดช่วงเวลาที่กองทัพพม่าพยายามสถาปนาอำนาจตั้งแต่การได้รับเอกราชมาด้วยการห้ามพูดถึงแนวคิดเรื่องสหพันธรัฐ การแบ่งแยกดินแดน หรือการที่ไม่ได้ทำตามสนธิสัญญาปางโหลง โดยเฉพาะช่วงการรัฐประหารของเนวินเมื่อปี 1962 ก็ยิ่งกดไม่ให้ชาติพันธุ์สามารถมีตัวแทนของตัวเองในระดับประเทศได้อย่างแท้จริง และส่งผลให้มีความขัดแย้งภายในกับฝ่ายตรงข้าม มีสงครามกลางเมืองมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พอรัฐประหาร (1 กุมภาพันธ์ 2021) เกิดขึ้น แผลตรงนี้มันก็สะสมเพิ่มเติม ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่มีมาหลายทศวรรษส่วนนึงมันก็ยิ่งประทุออกมา 

สังคมไทยก็มีความแตกกระจาย ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้วก็ทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม มองยังไงในการที่จะรวมกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองให้มาทำงานร่วมกัน

รามิล : เป็นคำถามที่ยากนะครับ พูดถึงในหมู่มวลพวกเดียวกันก่อนแล้วกัน จะยังไม่ได้ข้ามไปพูดถึงคนที่มีความคิดที่อาจจะไม่ตรงกับเรา ในกลุ่มคนที่กำลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยอยู่ในตอนนี้ ตามข้อเท็จจริงแล้วมันมีการแตกกระจายออกไปเป็นหลายกลุ่มหลายก้อนในหลายหลายพื้นที่ของทุกๆ ภาคในประเทศด้วยซ้ำ มันมีสิ่งที่เราไม่เคยให้ความใส่ใจกับมันมาก่อน อย่างการเคารพ practice ของกันและกันสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คือหมายความว่า มันมีงานบางอย่างที่เป็นการเคลื่อนไหวซึ่งมีเจตนาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมกับการเมืองอยู่ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะออกไปม็อบ มันมีกลุ่มอื่นอีกเยอะแยะมากมาย กลุ่มที่อาจจะทำงานด้านศึกษาเป็นการสร้างการรับรู้ทางความรู้ หรือว่าคนที่ทำงานเคลื่อนไหวศิลปะต่างๆ พอมันเห็นหน้าเห็นตากันในเครือข่ายการขับเคลื่อนอันนึงที่สำคัญมันก็คือการเคารพ practice ของกันและกัน 

อีกอันนึงคือเราควรจะคุยกันว่ามันเป็นยังไงแล้วบ้าง มีการอัพเดท มีคอมมิวนิตี้ของการพูดคุยกัน เพราะว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนบริบทของมันในทุกๆ ช่วงเวลา อาจจะพูดกว้างไป อย่างในประเด็นตอนนี้ที่แบมกับตะวันใช้ตัวเองเข้าไปเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม อันนี้ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญของคนที่ทำงานเคลื่อนไหวว่าจะกลับเข้าไปสนับสนุนข้อเรียกร้องนั้นได้ยังไง นอกจากการที่เราต้องออกมาสร้างการตระหนักรู้ว่าสิ่งที่แบมและตะวันทำมันคืออะไร สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไปไม่ได้เลยคือข้อเรียกร้องของตะวันกับแบมที่เกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ซึ่งมันก็มีคนที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่ตอนนี้ด้วย อย่างเช่นการไม่ให้สิทธิประกันตัวยังมีคนติดอยู่ในคุกเกือบปีแล้ว อะไรพวกนี้มันควรจะต้องถูกนำมาพูดคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง

กฤษณ์พชร โสมณวัตร

รามิลพูดว่าจะดึงคนที่มีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน ต้องมีการพูดคุยซึ่งนำไปสู่การสร้างชุมชนขึ้นมา และถ้าเข้าใจไม่ผิดสิ่งที่เรียกว่าชาติเริ่มจากการเป็นชุมชน (อันนี้ขโมยอาจารย์ Ben Anderson มานะครับแต่ว่าก็เติมคำว่าจินตกรรมไปด้วย) พอพูดถึงเรื่องชาติกลับมาที่เมียนมา จากสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้ามามองอนาคตเมียนมาอย่างไร

ศิรดา : คนมักจะให้ความสนใจเรื่องบทบาทของกองทัพพม่า อย่างเช่น roadmap ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากให้นึกว่ามีแค่ scenario เดียวที่กองทัพพม่ายึดครองพื้นที่ได้ จะสร้างสถาปนาอำนาจได้ เราคิดว่าเราทุกคนสามารถที่จะนึกถึงและจินตนาการรูปแบบการเมืองของชาติพม่าแบบใหม่ได้ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายบางอย่างร่วมกัน อาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแต่มันเป็นโอกาสในตอนนี้ที่เราจะมองไปถึงอนาคตที่มันไม่ควรจะเป็นเหมือนเดิม

จริงๆ แล้วตลอดเวลาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ผ่านมา คนพม่าก็นึกถึงคำว่าประชาธิปไตย ต้องการประชาธิปไตย แต่พอโครงสร้างทางการเมืองมันยังเป็นแบบเดิม ยังมีกองทัพพม่าที่รวมศูนย์อำนาจ ยังมีปัญหาทางชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เรื่องของกระบวนการที่มันยังไม่ไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมภาคประชาชน มันไปอยู่กับแค่บางกลุ่ม กลุ่มอำนาจของผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะแค่กลุ่มชาติพันธุ์บะหม่า มันก็เลยไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ฝังรากลึกอย่างที่บอกไป เลยอยากชวนมานึกถึงจินตนาการภาพ ถ้าเกิดว่าสมการเดิมมันไม่ได้แก้ปัญหา เราต้องมองรูปแบบอื่น 

หรือช่วงนี้จะได้ยินแนวคิดที่เรียกว่า federal democracy (ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ) ที่จริงๆ มันอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์มานานแล้ว แต่ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นจริงจากการถูกกดทับโดยกองทัพพม่า ในเชิงสถาบันทางการเมืองหรือว่าการเมืองเชิงสถาบัน เข้าใจว่ามันยากในแง่ของการจะต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจโดยเฉพาะผู้ที่มีอาวุธหนักอยู่ในมือ มีอำนาจมีเครือข่ายในประเทศผ่าน crony มีทรัพยากรธรรมชาติที่ครอบครองได้ การ sanction ที่มันไม่ได้ผล คือในภาพความเป็นจริงพอเรามองแบบนี้มันจะหดหู่ แล้วมันจะยังคงติดอยู่ที่เดิม เราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราพลิกมองในเชิงอุดมคติ แล้วเราก็ตั้งธงว่าอย่างน้อยในหมู่ของประชาชนหรือภาคประชาสังคม ถ้าเรามาตั้งเป้าหมายร่วมกันที่ทำยังไงก็ได้ให้เราสร้างรัฐชาติใหม่ไปสู่สิ่งที่มัน inclusive คำนึงถึงความแตกต่าง หลากหลาย

มันเริ่มจะเห็นความหวังแล้วจากการที่มีกลุ่ม Gen-Z ชาวพม่าเริ่มรับแนวคิดนี้ ในเชิงการปฏิบัติความเข้าใจต่อแนวคิดเรื่องนี้ยังไม่ชัด ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ว่ามันเริ่มเป็นจุดความหวังอันหนึ่งที่แนวคิดนี้แพร่กระจายไปสู่หลายกลุ่ม แล้วมันถูกทำให้กลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นๆ เลยเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะมองรูปแบบการเมืองใหม่ การสร้างรัฐชาติแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วในแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐชาติพันธุ์เองก็เริ่มมีโครงสร้างทางสังคมหรือการให้สวัสดิการ การให้บริการสาธารณะแก่คนในพื้นที่ที่ตัวเองควบคุมได้ เริ่มเห็นในเชิงปฏิบัติอยู่บ้างในบางรัฐชาติพันธุ์ แต่ในแง่ของภาพกว้างในระดับประเทศเรามีอีกหลายสเต็ปมากที่จะไปถึงจุดนั้น ทุกอย่างเป็นจุดเริ่มต้น และสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญเหมือนกันถึงแม้อาจจะมองว่าอำนาจน้อยกว่าคือความคิดทางการเมืองของประชาชน การเมืองเชิงสถาบันมันยาก แต่ว่าการเมืองเชิง narrative การเมืองเชิงความคิดมันก็สามารถมีพลังได้เช่นกัน

วงสนทนา Where Do We Go Now?

พอพูดถึงอุดมคติพูดถึงเรื่องการสร้างชาติใหม่ แล้วกับประเทศไทยอยากให้รัฐไทยมีหน้าที่ต่อประชาชนไทยอย่างไรดี เรื่องที่สองอยากเห็นประชาชนคนไทยเป็นเพื่อนกับประชาชนเมียนมาอย่างไร

รามิล : ช่วงต้นเดือนธันวาศาลพม่าตัดสินลงโทษประหารชีวิตเจ็ดนักศึกษา ตัวองค์กรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่มันมีคำถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเราในฐานะองค์กรนักศึกษาและเกี่ยวข้องอะไรกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมรู้สึกว่าผมก็ตอบไม่ได้นะครับ แต่ว่าอะไรที่มันดูไม่เกี่ยวข้องไม่ต้องไปหาความเกี่ยวข้องให้มัน

ที่เกี่ยวข้องกับเราก็คือในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราจะเลือกทำอะไรหรือไม่ทำอะไรส่งผลกระทบต่อการนิยามความหมายความเป็นมนุษย์ของตัวเราแล้วก็มนุษยชาติ หมายความว่า ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ได้รู้เรื่องเลยว่าอะไรเกิดขึ้นที่พม่า ไม่รู้เรื่องเลย แต่วันนึงวันใดที่เรารู้เรื่องแล้วมันก็จะเป็นตัวเลือกของเรา ว่าเราจะเลือกที่จะทำอะไรต่อกรณีที่เกิดขึ้น

อีกอันนึงสำหรับการวาดหวังอนาคตของคน ถามว่าคาดหวังอะไรกับรัฐบาล ผมว่าช่างxxมันครับไม่ต้องไปคาดหวังอะไรกับฐบาล พวกxxนี่เป็นตัวแทนของเราถ้าทำxxอะไรไม่ถูกใจเรา เราก็ด่าให้ปรับเปลี่ยนในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่แค่รัฐบาลนะครับหน่วยงานรัฐด้วย

สิ่งหนึ่งที่มันควรจะต้องเป็นความร่วมไม้ร่วมมือกันผมกลับไปมองถึงการเคลื่อนไหวของผู้คนมากกว่า การเคลื่อนไหวของผู้คนไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องออกไปชุมนุมหรืออะไรทำนองนั้น หมายความว่าตอนนี้เราต้องการที่จะเห็นอะไรเป็นแบบไหน เราก็แค่ต้องทำแบบนั้นให้เกิดขึ้น ความหวังมันจะต้องอยู่ที่คุณ ไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาล

อยากฝากอะไรทิ้งท้าย

ศิรดา : เราในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นแค่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล มันคือความสัมพันธ์ของประชาชนต่อประชาชนด้วย เราก็อยากจะให้ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าเพราะว่าจริง ๆ เรามีเป้าหมายเดียวกันในการที่จะต่อต้านความไม่ยุติธรรม ต่อต้านความเผด็จการ

เราจะเห็นเรื่องสถานการณ์การละเมิดสิทธิฯ มีพี่น้องจากพม่าหลายกลุ่มเลยที่เข้ามาในประเทศไทย แต่เดิมแล้วจะนึกถึงแค่แรงงานต่างชาติแต่ว่าปัจจุบันผู้ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยก็มีหลากหลายชนชั้น หลากหลายทักษะ หลากหลายรูปแบบมากๆ เค้าอยู่รอบๆ เรา อยู่ในสังคมเดียวกับเราทั้งหมดเลย อยากให้มองเค้าไม่แปลกแยก ไม่แบ่งแยก ให้เข้าใจสถานการณ์ว่าทำไมเค้าถึงต้องมาอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งก็นับว่าปลอดภัยสำหรับชีวิตเขามากกว่า แต่ว่านี่คือระดับประชาชนนะ

สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของรัฐไทยด้วย รัฐไทยควรที่จะให้การคุ้มครองชีวิตคุ้มครองประชาชนชาวพม่าและเรื่องของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การมีช่องทางทางกฏหมายที่สามารถจะช่วยเหลือทุกคนได้ แล้วก็ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเองด้วยที่ไม่ควรจะแค่ให้ความชอบธรรมหรือว่ามีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับแค่กองทัพพม่า 

ในฐานะประชาชนเราค่อนข้างที่จะเชื่อมั่นว่าเราเข้าใจแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับพี่น้องของเรา ซึ่งทำให้เขาเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้เท่ากับรัฐบาลไทย ประเทศไทยไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยมันคือประชาชนคนไทยเป็นหลัก เราสามารถที่จะ เป็นตัวแทนของประเทศเราได้ ในการที่จะนึกถึงใจเขาใจเรากับพี่น้องที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา

รามิล : เมื่อเราเห็นการเคลื่อนไหวหรือการออกมาทำอะไรซักอย่างนึงมันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ เพื่อที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีเสรีภาพ มีอิสรภาพ แม้เราจะไม่ถูกใจมันก็ตาม คือความชอบไม่ชอบมันก็เป็นเรื่องของปัจเจกอยู่แล้วคุณจะชอบไม่ชอบอันนี้เป็นเรื่องของแต่ละคนไป แต่ถ้ามันเป็นการต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยอิสรภาพเนี่ย การที่เราจะเลือกเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม เรามีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธ อันนี้ก็ถือเป็นจุดยืนสำคัญที่เรายืนยันแล้วก็ทำมา