“Will You Forget Us?” การเคลื่อนไหวของประชาชนเมียนมา-ไทย ที่เราต้องไม่ลืม

เหตุการณ์การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี เป็นอีกหนึ่งโศกนาฎกรรมที่สะท้อนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในเมียนมาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปีแล้ว ที่ประชาชนในประเทศได้ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมามาโดยตลอด แม้ว่าผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ต่างเจ็บปวดต่อการถูกจับ ขัง ฆ่า ซ้อมทรมาน และความรุนแรงอันโหดเหี้ยมในทุกรูปแบบ กระนั้นพวกเขาก็ยังคงต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาอย่างกล้าหาญและไม่ยอมจำนน เพียงเพื่อต้องการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรี ของตน ซึ่งจะไม่มีวันยอมให้ใครพรากไปได้อีก เพียงเพื่ออยากมีชีวิตที่ดีกว่าในประเทศที่พวกเขากำลังร่วมกันสร้างขึ้นมาใหม่ ประเทศที่คนเท่ากัน

วาระครบรอบ 2 ปี รัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา SEM และเพื่อนเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงาน “Myanmar Film Nights 2023” ขึ้นมา ณ เรือนร้อยฉนำ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กรุงเทพฯ เพื่อพาผู้ชมไปรับฟังเสียงต่างๆ จากใน/เกี่ยวกับประเทศเมียนมาผ่านเรื่องเล่าในภาพยนตร์ที่พยายามคัดสรรมาอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเสียงจากกะฉิ่น คะเรนนี กะเหรี่ยง ฉาน พม่า โรฮิงญา นอกจากนี้ยังมีวงสนทนาแลกเปลี่ยนถึงขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทย-เมียนมากับคำถามหลักที่ว่าคุณจะลืมเราไหม โดยได้รับเกียรติจาก ลลิตา หาญวงษ์, พริษฐ์ ชิวารักษ์, พุทธนี กางกั้น และ Pan Hmway มาร่วมแลกเปลี่ยน และมี วศินี พบูประภาพ จาก Workpoint TODAY เป็นผู้ดำเนินรายการ

วงสนทนา Will You Forget Us? – คุณจะลืมเราไหม

ลลิตา หาญวงษ์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และติดตามประเด็นเมียนมามาอย่างยาวนาน เริ่มต้นให้ภาพของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในเมียนมาว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพม่าระลอกนี้ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการต่อสู้กันระหว่างสองกลุ่มสามกลุ่มหรือหลายกลุ่มก็มีมาโดยตลอดนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 ถ้าจะพูดสรุปสั้นๆ ก็คือว่ามันเป็นการต่อสู้กันระหว่างองค์รัฏฐะของพม่าที่นำโดย SAC คือคณะรัฐประหารและกองทัพซึ่งเป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกัน กับกองกำลัง ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร กองกำลังฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบของกองกำลังและการต่อสู้มีความสลับซับซ้อนค่อนข้างมากกว่าช่วงก่อนรัฐประหารพอสมควร พม่าไม่เคยเป็นเอกภาพ ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียว เราจะมองเห็นสภาพที่จะเรียกว่าเป็นความสงบไม่ได้ สงครามกลางเมือง สงครามระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังมีอยู่ต่อไป มันไม่มีวินาทีไหนเลยในพม่าที่เป็นวินาทีที่สงบ”

ลลิตา หาญวงษ์

นอกจากนี้ลลิตายังชี้ให้เห็นว่าแต่ละกลุ่มในเมียนมาก็ไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ว่าต่างจะมีเป้าหมายในการต่อต้านกองทัพพม่าเพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาธิปไตยแต่ทุกกลุ่มล้วนแต่มีวาระหรือ Agenda เป็นของตัวเองทั้งหมด การจะให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจอย่างเดียวกัน มีธงเดียวกัน ทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้าไปจนถึงเป้าหมายพร้อมๆ กัน จึงเป็นข้อท้าทายที่สำคัญอย่างมาก

ส่วนการเลือกตั้งในเมียนมาที่มีข่าวว่ากำลังจะเกิดขึ้น ลลิตาให้ความเห็นว่า “อย่าไปคาดหวังถึงขนาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือว่าเมียนมาจะกลายเป็นประชาธิปไตยแล้ว แบบนี้มันไม่ใช่ เราลองย้อนกลับไปตอนปี 2010 ก็มีการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการเลือกตั้งในแบบของกองทัพที่ถูกออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจง… ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับนักเคลื่อนไหวหรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะหลังจากนี้ก็จะเป็น คนของกองทัพที่เข้ามามีบทบาทภายในรัฐบาล ผู้ควบคุมอำนาจจริงๆ ก็ยังเป็นคนในกองทัพ ยังเป็น big brother ที่คอยปกครองควบคุมมาโดยตลอดไม่เคยไปไหนเลยนับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช”

โดยเธอได้ทิ้งท้ายต่อคำถามที่ว่าแล้วอย่างนี้ประชาชนไทยจะทำอะไรได้บ้างว่า

“เราอย่าปล่อยให้คนพม่าสู้อย่างเดียวดาย คนพม่าไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ในข่าวอย่างเดียว รอบๆ ตัวเรายังคงมีชุมชนชาวพม่าจำนวนมาก เรามีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากเมียนมาทุกกลุ่มในบ้านเราหลายล้านคน อาจเป็นทั้งผู้ใช้แรงงาน ผู้ที่ทำอาชีพหลากหลาย จำนวนมากก็จะเห็นด้วยเต็มที่กับการต่อต้านรัฐประหาร เขาก็อยากให้ประเทศกลับไปเป็นประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด…คอยเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันเพื่อที่ประชาธิปไตยทั้งในไทยและในเมียนมากลับคืนมาในเร็ววัน”

และหากมองขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้ลึกลงไปในระดับของประชาชนไทย-เมียนมา พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ไทย บอกว่าเราต่างได้รับแรงบันดาลใจและแลกเปลี่ยนกันไปมาในลักษณะข้ามพรมแดนตั้งแต่การเคลื่อนไหวของพี่น้องในฮ่องกง ไต้หวัน เรื่อยมาถึงไทย เมียนมา โดยที่ผ่านมามีองค์กร มีการเคลื่อนไหว ที่พยายามจะทำงานร่วมกันบ้าง เช่นการประท้วงที่หน้าสถานทูตเมียนมาหรือเครือข่ายพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ซึ่งทุกวันนี้ความสัมพันธ์ของประชาชนไม่ได้จางหาย ควรใช้โอกาสนี้ช่วยกันหาวิธีการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างขบวนให้มีมากขึ้น เหนียวแน่นยิ่งขึ้น โดย “หากฝ่ายเผด็จการและฝ่ายผู้มีอำนาจ เขาสามารถที่จะคุยกันได้ นับกันเป็นพี่เป็นน้องเป็นลูกเป็นพ่อกัน ผมคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องภาคประชาสังคมเราจะต้องมองการเคลื่อนไหวของพี่น้องในทุกประเทศรวมถึงในประเทศเมียนมา เราต้องมองการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา ให้เป็นพี่เป็นน้องเป็นลูกเป็นหลานได้เท่ากับที่เผด็จการเขามองกันและกัน”

พริษฐ์ ชิวารักษ์

นอกจากนี้เพนกวินยังเสนอว่า “ในฐานะประชาชน เราสามารถส่งเสียงของเราไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง เรามีโอกาสที่จะส่งเสียงไปให้ผู้ที่กำลังลงรับเลือกตั้งให้รับทราบกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อยๆ เราควรส่งเสียงไปถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้รับรู้ว่าถ้าคุณต้องการเป็นรัฐบาล เราต้องการให้ประเทศไทย เพิ่มระดับการปกป้องด้านมนุษยธรรมให้กับเพื่อนบ้านเรา อีกประเด็นคือหากมองไปที่สถานะทางการทูตของประเทศไทยบนเวทีโลก ปัจจุบันก็ถดถอยลงไปเยอะ จริงๆ ประเทศไทยควรแสดงบทบาทในฐานะประเทศใหญ่ในอาเซียนร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ยอมลงจากอำนาจ ถ้าทำแบบนี้ไทยก็มีโอกาสจะได้ scene เท่ๆ…ผมคิดว่าเราต้องฝันใหญ่ ทวงคืนบทบาท ทวงคืนสถานะของประเทศเรา หลังจากที่ตกต่ำติดต่อกันมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ให้เสียงของเรา ทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมส่งไปถึงพรรคการเมือง ให้เขาเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา อย่างที่บอกถ้าพม่าเป็นประชาธิปไตยผมว่าเราก็มี ถ้าเรามีประชาธิปไตยเราก็ควรให้ประชาธิปไตยเราสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกัน” ก่อนจะย้ำทิ้งท้ายว่า

“เรากำลังต่อสู้กับปีสาจเผด็จการตัวเดียวกัน เราต้องจับมือกันให้แน่นยิ่งกว่าเดิม เอาให้แน่นยิ่งกว่าที่เผด็จการจับมือกันเอง”

เช่นเดียวกันกับ Pan Hmway ศิลปินและนักหนังสือพิมพ์ชาวเมียนมา ที่มองว่า “สถานการณ์ระหว่างไทยกับเมียนมาค่อนข้างจะเหมือนกัน แทบไม่แตกต่างกัน เราอยู่ในขบวนการต่อสู้เหมือนกัน อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเหมือนกัน…การที่ประชาชนร่วมกันต่อสู้ มันเป็นพลังอำนาจที่ดีมาก ๆ  การได้ร่วมจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวด้วยกันมันทำให้เห็นว่าประชาชนต่างมีความเชื่อมโยงกันจริง ๆ เป็นพลังอำนาจสำคัญที่จะทำให้ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการได้อย่างไม่ย่อท้อ” ซึ่งเขาได้ขอบคุณคนไทยที่ไม่ได้เพิกเฉยต่อการต่อสู้ในเมียนมา ขอบคุณที่อยู่เคียงข้างพวกเขา

Pan Hmway

นอกจากนี้เขายังย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันอีกว่า

“ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวฝั่งไทยหรือฝั่งเมียนมา การเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อกันและกันด้วย ผมจึงอยากจะชวนคนที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมกันต่อสู้  ให้เข้ามาร่วมกันเยอะๆ ไม่ใช่แค่พี่น้องในประเทศไทยหรือเมียนมา แต่หมายถึงในประเทศอื่นๆ ด้วย มันจะไม่ได้เป็นการต่อสู้เพียงแค่เพื่อเมียนมา แต่มันอาจยกระดับไปจนถึงระดับภูมิภาคเลยก็ได้…และเราต้องช่วยกันส่งเสียงไม่ใช่เฉพาะแค่วันสำคัญ ช่วยกันเน้นย้ำว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา”

ในส่วนของภาคประชาสังคม พุทธนี กางกั้น ซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ก็ได้ย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของประชาชนด้วยกันว่าตั้งแต่ปี 1988 ถึงปัจจุบัน “เราจะเห็นความร่วมมือของมนุษย์ในเชิงมนุษยธรรมด้วยกันมาตลอดระหว่างไทยและพม่า แต่ประเด็นที่เป็นอุปสรรคก็คือรัฐ สิ่งที่ยังไม่เห็นก็คือการที่รัฐเข้ามาสนับสนุนภาคประชาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ จากการทำงานของเราอุปสรรคที่สำคัญคือรัฐทหารและทหารก็ยังคงร่วมมือกันทำให้การช่วยเหลือประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่…โดยที่ผ่านมารัฐยังมองว่าคนพม่าที่เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย วิธีการจัดการของเขาก็คือจัดการแบบแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่พวกเขามาอยู่เพราะภัยประหัตประหาร” ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย แต่พุทธนีบอกว่าไทยเรามีกฎหมายอยู่ 2-3 ตัว ที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาใช้คุ้มครองได้เลย เช่น พ.ร.บ.อุ้มหายและทรมาน มาตรา 13 พูดถึงเรื่องการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ กฎหมายตัวนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ ถ้ากฎหมายได้ใช้จริงก็จะเป็นตัวที่ช่วยปกป้องไม่ให้รัฐผลักดันผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาได้

พุทธนี กางกั้น

นอกจากนี้พุทธนียังเสนอว่าสิ่งพวกเราภาคประชาชนและภาคประชาสังคมจะสามารถทำได้คือ “เราควรจะพยายามผลักดันรัฐให้ทำ 2-3 อย่าง ข้อแรกคือ ขอให้รัฐไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ จนกว่าจะปลอดภัยจริงๆ และให้รัฐอนุญาตให้องค์กรที่ทำงานเรื่องมนุษยธรรมเข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ อย่างที่สอง เราต้องผลักดันให้รัฐไทยออกระเบียบชั่วคราวเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ต้องหนีภัยจากรัฐประหารสามารถเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องถูกจับและไม่ถูกส่งกลับ  และอย่างที่สาม รัฐบาลไทยต้องยกเลิกข้อสงวนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 22 ที่คุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งรัฐไทยเป็นรัฐเดียวในโลก ที่ตั้งข้อสงวนดังกล่าว” และในโอกาสที่ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง “สำหรับประชาชน ถ้าเราจะทำได้เราก็ควรจะกาเลือกพรรคที่อยากจะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั้งในไทยและเมียนมาด้วย” ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“เราต้องไม่ลืม ผ่านมาสองปีเราก็ต้องไม่ลืม เขาเป็นมนุษย์เหมือนเราเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นช่วยอะไรกันได้ก็ควรจะช่วยกัน”