“แรงงานเพื่อนบ้าน กับ สิทธิอาศัยและการทำงานในประเทศไทยในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป” เมื่อไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง

*สถิติของกรมจัดหางาน เมื่อเดือน ธันวาคม 2563  ระบุว่า มีแรงงานเพื่อนบ้าน (กรมจัดหารงานใช้คำว่า แรงงานข้ามชาติ) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,119,973 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 1,583,272 คน คิดเป็น ร้อยละ 63 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในแรงงานหลัก 3 สัญชาติที่ทำงานในประเทศ และหนึ่งในพื้นที่ต้นทางที่มีแรงงานจากเมียนมาเข้ามาทำงานจำนวนมาก คือ ทวาย

ภาพมุมสูงจากวัด Shwe Taung Zar ศูนย์กลางทางจิตใจของชาวพุทธในเมืองทวาย และภาพเมืองทวาย

ทวาย เป็นชุมชนทางใต้ของประเทศเมียนมาที่ SEM ทำงานใกล้ชิดมานานหลายปี นอกจากนี้ SEM ยังได้ทำงานร่วมกับชุมชนแรงงานทวายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นกำลังหลักที่เลี้ยงดูครอบครัวในเมียนมาและเป็นกำลังสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย ในงานคิดถึงทวายปีนี้จึงได้มีการจัดวงเสวนาพูดคุยถึงสิทธิของพวกเขา โดยมี อดิศร เกิดมงคล และ ศิววงศ์ สุขทวี จาก Migrant Working Group ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา จาก Myanmar Response Network  และ Khaing Min Lwin จาก Raks Thai Foundation มาร่วมอัพเดตสถานการณ์ของแรงงานและผู้ลี้ภัยเมียนมาท่ามกลางข้อจำกัดทางนโยบายและกฎหมายของไทย และมี วิภาพร วัฒนวิทย์ จาก ThaiPBS ร่วมดำเนินรายการ

วิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ดำเนินรายการ ไทยพีบีเอส

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทย โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานจากประเทศเมียนมา นับว่ามีความรุนแรงอย่างมากอันเนื่องมาจากปัจจัยภายในของประเทศต้นทางที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในชีวิตและปากท้องของผู้คนทั่วทั้งประเทศ อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนกลุ่ม Migrant Working Group ผู้ที่คลุกคลีทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติมานานกว่า 20 ปี เล่าว่าผลกระทบจากโควิดและรัฐประหารนั้นมีผลต่อจำนวนของคนที่เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ “เราเจอสถานการณ์การลักลอบเข้ามาที่มันมีความรุนแรงเหมือนในอดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อน เช่น มีการขนคนมาในรถขนผัก ถ้าสถานการณ์กลับมาเกิดขึ้นแบบนี้เท่ากับว่าความรุนแรงในพม่ามันชัดเจนจนทำให้คนต้องหาทางออกมา”

“เราเจอสถานการณ์การลักลอบเข้ามาที่มันมีความรุนแรงเหมือนในอดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อน เช่น มีการขนคนมาในรถขนผัก ถ้าสถานการณ์กลับมาเกิดขึ้นแบบนี้เท่ากับว่าความรุนแรงในพม่ามันชัดเจนจนทำให้คนต้องหาทางออกมา

อดิศร เกิดมงคล: MWG

การกดปราบเข่นฆ่าผู้ต่อต้านอำนาจกองทัพเมียนมาก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต้องหลบลี้หนีภัยออกมา ประกอบกับข้อจำกัดทางนโยบายและกฎหมายไทยจึงทำให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติยิ่งซับซ้อนมากขึ้น

ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา ทนายความจาก Myanmar Response Network สะท้อนถึงปัญหานี้ว่า “ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ลี้ภัยพม่ามาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานด้วย ดังนั้นเขาก็มีความคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นผู้ลี้ภัยกับแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการยื่นขอสถานะเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามนโยบายของไทย (National Screening Mechanism – NSM) ที่โอกาสในการพิจารณาให้ไปประเทศที่ 3 จะถูกตัดไป” อย่างไรก็ตามชาติชายมองว่าผู้ลี้ภัยก็ควรมีสิทธิได้ทำงานเช่นกัน

“สมัยก่อนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาจะมีฐานะนิดนึง แต่ปัจจุบันผู้ลี้ภัยคือทุกคน ทุกคนที่หนีตาย กลัวตาย คนที่เข้ามาไม่สามารถจะรอขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยได้เพราะอยู่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรจะกิน ความจำเป็นของเขาก็คือการรอขึ้นทะเบียนและหารายได้ แต่เมื่อคนเยอะกว่างาน นายจ้างก็มีสิทธิเลือก นายหน้าก็หาผลประโยชน์จากช่องว่างเป็นวงจร ทุกวันนี้นายหน้ามีอิทธิพลมากกว่ารัฐบาลด้วยซ้ำ” Khaing Min Lwin จาก Raks Thai Foundation ขยายให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

Khaing Min Lwin จาก Raks Thai Foundation

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติรวมถึงประเด็นผู้ลี้ภัยของรัฐไทยยังมีปัญหา ขาดความยืดหยุ่นและยุทธศาสตร์ในระยะยาว เหมือนกับสถานการณ์และโลกเดินไปข้างหน้าแต่รัฐไทยยังติดกับดักความมั่นคงและย่ำอยู่ที่เดิม ซึ่ง ศิววงศ์ สุขทวี จาก Migrant Working Group ให้ความเห็นว่า ”เราจะพบเสมอว่ารัฐบาลไทยกังวลกับการเข้ามาของแรงงานจากพม่าค่อนข้างมาก การยอมรับแรงงานพม่าในประเทศไทยเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจอย่างจริงจัง ไม่ได้มองถึงความเจริญในระยะยาว”

เมื่อมองไปข้างหน้าถึงข้อเสนอที่รัฐไทยควรปรับเปลี่ยน ศิววงศ์ มองว่า “ในอุดมคติของเรา เราอยากเห็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าอยู่แล้ว เพื่อทำให้ชีวิตของคนที่เดินทางเคลื่อนย้ายไปมามีชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงการเดินทางที่ปลอดภัย เข้าถึงสิทธิทำงานที่ควรจะเป็น ควรจะเป็นคือความเจริญของทั้ง 2 ฝั่ง เศรษฐกิจของไทยก็เจริญก้าวหน้าในขณะที่พม่าก็มีรายได้กลับไปจากฝั่งประเทศไทย…

ที่ผ่านมาเราพยายามประเมินความต้องการแรงงานของไทยอยู่ตลอดว่าภาคอุตสาหกรรมไหนต้องการแรงงานจำนวนเท่าไหร่แล้วก็นำเข้ามา ซึ่งการประเมินแบบนี้มันไม่ใช่ตลาดแรงงาน คือมันไม่สามารถตอบสนองตลาดแรงงานที่มีพลวัตได้ เราจะจัดการตลาดแรงงานในประเทศยังไงให้มีประโยชน์

เรากังวลว่าหากปล่อยให้คนเดินทางเข้ามาอย่างเสรีแล้วจะทำให้คนไทยตกงานแน่ๆ อันนี้คือความกังวลโดยทั่วไป แต่ถามว่าคนไทยทำงานในกลุ่มงานเดียวกับที่เพื่อนบ้านมาทำไหม ถ้าเป็นผมคงไปทำงานที่เกาหลี เงินเดือนเยอะกว่า ฉะนั้นผมคิดว่าด้านนึงเราอาจต้องค่อยๆ ปรับลดมาตรการการควบคุมตลาดแรงงานในประเทศไทยลง ให้แรงงานเข้ามาเจอกับความต้องการของตลาดแรงงานในไทยเอง ส่วนทักษะอื่นๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องกีดกันว่าอาชีพไหนเป็นของคนไทยยังไงบ้าง แต่ว่าก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของบางงานที่ต้องกำหนดมาตรฐานเอาไว้ เช่น หมอต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ แล้วไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติที่สอบผ่านก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ปกติ อันนี้คือความหวังของผมและอาจเป็นข้อเสนอเบื้องต้น”

ด้าน อดิศร ก็เสนอทางออกในระยะยาวว่า “มันควรเป็นการย้ายถิ่นอย่างเสรี เมื่อใดก็ตามที่ใครมีความต้องการจะจ้างงานหรือทำงาน ก็สามารถย้ายถิ่นได้ตามตลาดแรงงาน คล้ายกับในแถบ EU ในเชิงของการจัดการระยะสั้นที่ควรจะเป็น อาจจะต้องมองให้เห็นปัจจัยของการเคลื่อนตัวของแรงงานที่มีหลายลักษณะ และทำให้ทุกกลุ่มได้รับโอกาสให้มาทำงานได้ถูกต้อง” และเสนออีกว่า “ระยะยาวมันไม่สามารถที่จะมาแบ่งแยกว่าประเทศไทยจะโตประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ได้ หรือว่าพม่าจะโตประเทศเดียว มันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งประเทศไทยและประเทศในแถบนี้ทั้งหมด ผมพบว่าในหลายๆ ประเทศมีการดึงกำลังแรงงานที่มีอนาคตระยะยาว โดยไม่สนใจว่าจะมีกี่สัญชาติ บางภูมิภาคการมีหลายสัญชาติเป็นข้อดีทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้น เพราะคนสามารถเคลื่อนย้ายไปลงทุน ไปทำงาน หรือไปสร้างสิ่งดีๆ ในหลายๆ ประเทศได้ และการที่คนมีความผูกพันมากกว่าหนึ่งประเทศเนี่ย สิ่งที่ชัดเจนมากคือระยะยาวคนจะไม่สู้รบกันแน่ๆ เพราะท้ายที่สุดคนจะรู้สึกผูกพัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือเราต้องมาสร้างจินตนาการร่วมกันให้ได้”

“ระยะยาวมันไม่สามารถที่จะมาแบ่งแยกว่าประเทศไทยจะโตประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ได้ หรือว่าพม่าจะโตประเทศเดียว มันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งประเทศไทยและประเทศในแถบนี้ทั้งหมด

อดิศร เกิดมงคล

ส่วน Khaing Min Lwin มองว่าควรเปิดให้แรงงานมีการย้ายนายจ้างอย่างเสรี ขณะที่ ชาติชาย เสนอว่า “ไม่ควรจำกัดให้แรงงานทำงานเฉพาะที่เป็นงานหนักหรืองานไร้ทักษะ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่เข้ามาไม่ใช่แรงงานไร้ทักษะนะ เป็นหมอก็มี แล้วทำไมไม่ให้คนเหล่านี้มาทำงานตามวิชาชีพ ตามการศึกษาที่เขาเรียน ตามวุฒิการศึกษาที่เขามี มันเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า”

“ผมคิดว่าเราอาจจะต้องลุกขึ้นมาพูดถึงสิทธิแรงงานของเรามากขึ้นในฐานะแรงงานคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ แต่ในฐานะแรงงานคนหนึ่งในประเทศนี้เหมือนกับแรงงานทุกคน” ศิววงศ์ ทิ้งท้าย