Do You Hear The People Sing? | ได้ยินเสียงผู้คนร้องไหม

วาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหารเมียนมา SEM ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงาน “Do You Hear The People Sing?” ขึ้นที่ Lido Connect กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา โดยตั้งใจ ‘ส่งเสียง’ ให้ได้ยินและสื่อสารให้เห็นถึงความร่วมมือกันของประชาชน-ประชาชน ทั้งในและนอกประเทศ ที่นับวันก็ยิ่งเหนียวแน่น ชัดเจน และมีพลังโดยเฉพาะพลังแห่งความสร้างสรรค์ในการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม ต่อสู้กับโศกนาฏกรรม และความโศกเศร้า และความเบิกบานก็คือหนึ่งในพลังการต่อต้านของพวกเรา! 

วิชัย จันทวาโร ผู้จัดการเสมสิกขาลัย-เอเชีย โครงการเมียนมา ได้กล่าวต้อนรับและเปิดงานด้วยความปลาบปลื้มใจในพลังของผู้คนที่ยังยืนหยัดต่อสู้กันมา 3 ปีหลังรัฐประหารเมียนมาล่าสุด และกว่า 10 ปีของการรัฐประหารในไทย เขากล่าวเพิ่มเติมว่าเสมสิกขาลัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ล้วนแต่เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้การต่อสู้ของประชาชนทั้งสองฝั่งขับเคลื่อนมาจนถึงทุกวันนี้

“ปีนี้เป็นปีที่ 3 ของการจัดงานรำลึกการสูญเสียจากรัฐประหารเมียนมาและการสูญเสียโอกาสของประชาชน ผมพูดทุกครั้งว่าเราไม่อยากจัดงานนี้เลย เรายังรอวันที่เราจะได้จัดงานเฉลิมฉลองชัยชนะของประชาชน สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะสื่อสารสำหรับปีที่ 3 นี้ก็คือว่า

เราไม่รู้ว่าการต่อสู้จะสิ้นสุดตอนไหน แต่ในระหว่างการต่อสู้นี้เรามีสิทธิ์ที่จะมีความสุข หัวเราะ ร่าเริง นี่คือคำยืนยันเพราะมันคือสัญลักษณ์ว่าตราบใดที่เรายังหัวเราะได้พวกเขายังไม่ชนะ และตราบใดที่เรามีความสุขนั่นคือเราจะไม่ยอมแพ้”

วิชัยทิ้งท้ายว่า 3 ปีแล้วที่เราต่อสู้กันมา เหล่าผู้มีอำนาจอาจจะยังไม่ได้ยินเสียงผู้คนหรือไม่อยากได้ยินเสียงพวกเรา แต่ปีนี้เราจะถามและส่งเสียงอีกครั้งว่า “ได้ยินเสียงพวกเราไหม Do you hear the people sing?”

ผู้ชมร่วมถ่ายภาพรณรงค์ยืนเคียงข้างเพื่อนเมียนมา/ photo credit: ไข่แมว

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้ร่วมจัดงานนี้ก็ได้กล่าวว่าการที่เรามาอยู่ด้วยกันในวันนี้ก็เพื่อจะแสดงพลังให้เห็นว่าแม้จะผ่านมาแล้ว 1,105 วันหรือ 3 ปีของการรัฐประหารในเมียนมา แต่เรายังไม่ลืมและยังต่อสู้ร่วมกันอยู่ ซึ่งชัยชนะของประชาชนนั้นอยู่ข้างหน้าเพียงเอื้อมมือแล้ว ก่อนจะเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่า

“มีผู้คนกว่า 4,500 คน ที่ถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม กว่า 26,000 คน ที่ถูกจับภูมิคุ้มกันโดยพละการ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา มีเด็กเกือบ 20 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ มีคนเป็นล้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัย นี่เป็นเพียงเลขจำนวนหนึ่งเท่านั้น

และเราจะไม่ยอมจำนน เราจะตะโกนบอกประชาคมโลก เราจะเรียกร้องกับทหารพม่าว่าต้องยุติการนองเลือด หยุดการโจมตีทางอากาศ คืนสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ปล่อยตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนทุกคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการรัฐประหาร ต้องคืนอำนาจให้กับพลเรือน และหยุดใช้อำนาจทางทหารเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ”

นอกจากนี้ปิยยุชยังเน้นย้ำบทบาทของประเทศไทยว่า ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านเราจะต้องเจรจากับกองทัพพม่าให้หยุดการโจมตีประชาชนและรัฐไทยจะต้องอนุญาตให้ผู้คนอพยพข้ามมาหนีภัย เข้าถึงการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิต่างๆ

หลังจากมีการถ่ายภาพเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวในการร่วมต่อสู้และยืนหยัดเคียงข้างกัน ในงานยังมีกิจกรรม 3 ไฮไลท์สำคัญ เริ่มด้วยละครเวทีชื่อ The Ordinary ที่บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของคนธรรมดากับอำนาจเผด็จการ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเวลาหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่มันก้าวข้ามพรมแดนและวัฒนธรรม ย้ำเตือนเราว่าการต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความยุติธรรมนั้นเป็นสากล โดยละครเวทีเรื่องนี้กำกับการแสดงโดย ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์ ช่วยกำกับการแสดงโดย อีหลิว ลี และมี ปาลิตา ศรีวบุตร แสดงนำ ร่วมกับนักดนตรี วิศรุต ตาวินโน

ธันย์รัตนราม เล่าที่มาที่ไปของละครเวทีเรื่องนี้ว่า “เราอยากเล่าเรื่องของคนธรรมดาที่สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ แล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโจทย์ของเราใหญ่มากว่าการเปลี่ยนแปลงแบบไหนถึงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี การเปลี่ยนแปลงแบบไหนมันจะเกิดขึ้นได้บ้าง จนเราตกตะกอนว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมันดีเสมอ ทุกคนมีกลไกการเอาตัวรอดคืออยากจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองเพื่อให้ดีขึ้น

นี่คือหัวใจที่เราอยากจะสร้าง คืออยากส่งต่อพลังที่คนธรรมดาก็สามารถลุกขึ้นมาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ละครเวที The Ordinary/ photo credit: Zaa Chanakhan

และเมื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลง นักดนตรีเองก็มีการเปลี่ยนตัวจากการแสดงครั้งแรกที่เชียงใหม่เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งวิศรุตแลกเปลี่ยนว่าเขาได้เห็นว่านักแสดงมีบทบาทที่หลากหลาย เปลี่ยนไปหลายบุคลิกมากในระหว่างแสดง ฉะนั้นนักดนตรีเองก็น่าเปลี่ยนด้วย เลยพยายามคิดหาเครื่องดนตรีหลายชนิดที่จะสามารถเล่นคนเดียวได้และสามารถเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็น ขลุ่ยรีคอร์เดอร์ เมโรเดียน และไวโอลิน สร้างเสียงจำลองอารมณ์ของนักแสดงและสถานการณ์ในเรื่อง จนทำให้เรื่องราวที่ทีมละครตั้งใจสื่อสารออกมานั้นเข้าถึงและสะเทือนอารมณ์ผู้ชมอย่างมาก

นอกจากละครเวที วงสนทนา “Voice and Sound of the Resistance” ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้งานที่เต็มไปด้วยสาระที่สะท้อนถึงเสียงต่างๆ ที่ดังขึ้นตลอด 3 ปีหลังรัฐประหารในเมียนมา โดยมี อรดี อินทร์คง นักศึกษาดุษฎีบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยคอร์แนล และ ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์ (From Bangkok to Mandalay, โยเดียที่คิดไม่ถึง, จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ฯลฯ) มาร่วมแลกเปลี่ยนประเด็น

โดยชาติชายได้เล่าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2015 จนเกิดรัฐประหาร ซึ่งนอกจากเขาแทบจะไม่สามารถทำภาพยนตร์ในเมียนมาได้อย่างเคย มิตรภาพต่างๆ ก็มลายหายไปพร้อมกัน รวมทั้งเพื่อนนักแสดงที่เขาทำงานด้วยหลายคนก็ไม่สามารถกลับบ้านได้ โดยชาติชายทิ้งประเด็นที่สำคัญไว้ว่า

“สิ่งที่เราพยายามจะรักษาที่สุดคือมิตรภาพ คือไม่ว่าจะยังไงเหตุการณ์ต่อสู้วันหนึ่งมันก็ต้องมีวันจบ แต่ตอนที่มันจบเราต้องมีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วยนะครับ เพราะไม่งั้นมันจะล่มสลายหมดเลย”

ด้านอรดี ก็ได้เล่าถึงภูมิทัศน์เสียงช่วงก่อนเกิดและหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะกรณีศึกษาเสียงในทรงจำของผู้พลัดถิ่นที่อพยพมายังประเทศไทย รวมทั้งยังเล่าถึงพัฒนาการของเสียงที่ใช้ในการต่อต้าน ตั้งแต่การละเล่นพื้นบ้าน เสียงประท้วงบนท้องถนน จนมาถึงเพลงแร็ปในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีแค่ภาษาพม่าแต่รวมเอาหลากหลายภาษาและเรื่องราวของชาติพันธุ์ต่างๆ มาเล่าอยู่ในเพลงซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบริบทสังคมเมียนมา

เธอสรุปสิ่งที่ได้ยินคนเมียนมาส่งเสียงมาตลอด 3 ปี ด้วย 4 ข้อหลักคือ ความกล้าหาญ ความสร้างสรรค์ การเชื่อมต่อกันของผู้คนทุกชาติพันธุ์ทั้งในและนอกประเทศ และสุดท้ายคือความมุ่งมั่นต่อสู้จนกว่าจะชนะ ก่อนทิ้งท้ายวงสนทนาไว้อย่างมีความหวังว่า

“เสียงที่จะได้ยินต่อไปหลังจากการต่อต้านก็คือ เสียงแห่งชัยชนะของประชาชนทุกคน အရေးတော်ပုံ အောင်ရမည် (การปฏิวัติจะต้องชนะ!)”

ภาพบัตรคอนเสิร์ต /photo credit: Zaa Chanakhan

และปิดท้ายงานด้วยคอนเสิร์ตจากศิลปินไทย-เมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการเดี่ยวพิณพม่าโดย วา วา ซาน ที่เริ่มต้นด้วยบทเพลงอวยพรให้ประสบความสำเร็จตามขนบธรรมเนียม ก่อนจะต่อท่วงทำนองดนตรีชวนค้นหา สนุก และโบยบินไปกับสองหนุ่มจากวง รัตติกาล ต่อด้วยการพาผู้ชมดำดิ่งไปในโลกของสงครามและสันติภาพกับบทเพลงของ น้ำ คีตาญชลี และเริ่มไต่ระดับความอารมณ์ความรู้สึกไปกับบทเพลงปฏิวัติของเมียนมาที่มักถูกขับร้องบนท้องถนน ด้วยการผสานเข้ากับวงดนตรีคลาสสิคจากวง Co-Culture Ensemble (COCE)

ในงานนี้เน้นพูดถึงเสียงที่หลากหลาย ในคอนเสิร์ตจึงไม่ได้จำกัดประเภทแนวเพลง แต่เน้นสร้างความร่วมมือเพื่อทลายกรอบนำไปสู่ขอบฟ้าความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไร้พรมแดน เราจึงได้เห็นการเดี่ยวพิณพม่าร่วมกับวงแร็ป Triple Edge บนเวทีเดียวกัน ก่อนจะพาผู้ชมไปฟังเสียงของหลายชาติพันธุ์ ทั้งพม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ฯลฯ ในเพลงแร็ปแบบที่อรดีเล่าถึงในช่วงวงสนทนาก่อนหน้า และต่อด้วยวง สามัญชน วงดนตรีคู่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไทย ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าบทเพลงของพวกเขาเกิดมาเพื่อสามัญชนทุกคนอย่างแท้จริง ก่อนที่จะปิดท้ายงานด้วย 3 บทเพลง เราคือเพื่อนกัน กะบามะเจ่บู และ Do you hear the people sing? ที่ถูกเรียบเรียงดนตรีขึ้นมาใหม่เพื่องานคอนเสิร์ตครั้งนี้โดยเฉพาะ

เสียงประสานภาษาไทย พม่า อังกฤษ ภาพที่นักดนตรีทุกคนยืนอยู่บนเวที และบรรดาผู้ชมที่อยู่ร่วมกันจนวินาทีสุดท้าย เหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของประชาชน เป็นพลังที่ส่งเสียงดังก้องว่า เราจะต่อสู้จนกว่าพวกเราจะชนะ!

สามารถดูสูจิบัตรงานเพิ่มเติมได้ที่: https://online.fliphtml5.com/klnjy/gmfn/index.html