In – Between: ในวิกฤตเมียนมา ผู้ลี้ภัยล้วนติดกับอยู่ระหว่างทุกสิ่ง

ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร/ เรียบเรียง

นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดให้วันที่ 20 มิถุนายน เป็นวันผู้ลี้ภัยโลก ถึงตอนนี้ก็เป็นปีที่ 22 แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงตลอดประวัติศาสตร์ของการหลบลี้หนีภัยนั้นมีมายาวนานกว่านั้นมาก และเมื่อมองกลับเข้ามาประชิดติดพรมแดนไทยทางฝั่งตะวันตก เมียนมามีสถานการณ์เรื่องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เลวร้ายและยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564

เสมสิกขาลัย (SEM) ร่วมกับ Asylum Access Thailand (AAT), Myanmar Response Network (MRN), และสื่อ Thai PBS, Thai PBS World, Decode.Plus ได้ร่วมกันจัดงาน “In – Between | ชีวิตติดกับ” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ณ สถานี Thai PBS ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยประเด็นสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเชืงนโยบายและการบริหารจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา โดยภายในงานแบ่งงานออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นเวที “Fled Talk” ที่ชวนฟังหลายเสียงสะท้อนจากหลากชีวิตถึงรัฐบาลใหม่ ทั้งผู้ลี้ภัยเมียนมาและคนทำงานที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางกับดักระหว่างที่ต้องอยู่อาศัยในประเทศไทย และช่วงท้ายเป็น “วงแลกเปลี่ยน” ถกเถียงถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ท่ามกลางกระแสลมของการเปลี่ยนแปลง โดยมีวิภาพร วัฒนวิทย์ และณัฏฐา โกมลวาทิน จาก Thai PBS เป็นผู้ดำเนินรายการ

นัยนา ธนวัฑโฒ ผู้อำนวยการบริหารจาก AAT กล่าวเปิดงานว่าวันผู้ลี้ภัยโลกมีขึ้นเพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและกล้าหาญของผู้คนที่ต้องถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิด UN กำหนดให้วันที่ 20 มิถุนายน เป็นวันผู้ลี้ภัยโลกเพราะเป็นวันกลางปี ซึ่งมีนัยยะสะท้อนถึงผู้ลี้ภัยที่ต้องติดกับอยู่ระหว่างสองที่คือระหว่างที่ที่ตัวเองหนีภัยมากับที่ที่กำลังจะไป ระหว่างการหลบหนีจากที่ที่จากมาและพื้นที่ใหม่ที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ลี้ภัยจากเมียนมามีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในไทย นัยนาย้ำว่าในปีนี้ไทยจะมีรัฐบาลใหม่ ถือว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับนโยบายผู้ลี้ภัยที่ดีขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองและให้โอกาสพวกเขา

วิชัย จันทวาโร ผู้จัดการโครงการจากเสมสิกขาลัย-เอเชีย กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่าจากรายงานของ UNHCR (ข้อมูลถึง 1 พ.ค. 2566) ประเมินว่ามีจำนวนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมามากถึงประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหารในครั้งนี้จำนวน 1.4 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมากที่ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เกิดผู้ลี้ภัยในประเทศตนเองมากขนาดนี้ คนอายุน้อยจำนวนมากที่ควรจะเป็นกำลังสำหรับการพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ หลายปัจจัยที่ซ้อนทับกันเหล่านี้ทำให้การหนีมายังประเทศไทยคือทางออกในการมีชีวิตรอดที่ดีที่สุดของพวกเขา

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลืออย่างจำกัดจำเขี่ยจากข้อจำกัดทางนโยบาย ประเทศไทยไม่มีมาตรการที่ให้สิทธิทางกฎหมายที่จะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างอิสรเสรีและปลอดภัย ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็เหมารวมทุกคนที่เข้ามาว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อมีคำว่าผิดกฎหมายก็จะตามมาพร้อมกับการรับโทษการผลักดันส่งกลับ ประเด็นด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาและกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระดมความคิดความเห็นกันในวันนี้และในวาระต่อๆ ไป

ต่อประเด็นผู้ลี้ภัยเมียนมายังอยู่ในระหว่างทุกสิ่งอย่าง ประชาชนผู้อพยพเข้ามายังอยู่ระหว่างทาง ยังอยู่ระหว่างแนวชายแดน ยังอยู่ระหว่างการหลบซ่อนหลบหนี นโยบายก็ยังอยู่ระหว่างการสร้างความชัดเจนหรือสร้างนโยบายที่ดีขึ้น ผู้กำหนดนโยบายตอนนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสิ้น รัฐบาลของไทยก็ยังอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสิ้นเช่นเดียวกัน เรายังไม่รู้ว่าอนาคตของผู้กำหนดนโยบาย อนาคตของผู้ที่เราควรจะต้องช่วยเหลือเขาจะเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า  In-Between

เสียงสะท้อนจากผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลังรัฐประหาร

เสียงสะท้อนจากผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลังรัฐประหาร

เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่แม้จะอยู่หนีภัยเข้ามาในไทยแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนหรือมาร่วมงานในวันนี้ด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตามภายในงานได้มีการเปิดวีดิโอสัมภาษณ์จากทีมผู้จัดงานเพื่อสะท้อนเสียงของพวกเขาออกมาให้ผู้ชมได้รับทราบสถานการณ์ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญไปจนถึงข้อเสนอเชิงนโยบายจากปากพวกเขาต่อรัฐบาลไทย โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ที่กำลังเข้ารับตำแหน่ง

จ่อ จ่อ เตงน์ อดีตผู้ลี้ภัยผู้ได้รับสิทธิอาศัยในประเทศที่สาม เล่าว่ากว่าจะได้ไปประเทศที่สามเขาจำเป็นต้องหลบหนีมายังประเทศไทย ซึ่งเขาต้องขอบคุณอย่างมากที่ให้พักพิงและอาหารแก่พวกเขาในครั้งนั้น เขาเน้นย้ำถึงผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนว่าพวกเขาต้องเผชิญภัยความรุนแรงภายในประเทศ เขามีชีวิตอยู่ย่างยากลำบากและไม่มีที่ทางเลือก พวกเขาถูกบังคับให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และเราไม่สามารถมองข้ามสุขภาพจิตของพวกเขาได้เพราะเขารู้สึกเจ็บช้ำและทรมานอย่างมากมากจากสงครามความขัดแย้ง

จ่อ จ่อ เตงน์ เสนอว่าอยากให้ชาวโลกช่วยกันหาทางออกที่ยั่งยืนและมุ่งสู่สันติภาพ ผู้ลี้ภัยตามค่ายถือเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม อยากขอให้กระบวนการอพยพไปประเทศที่สามราบรื่นมากขึ้น เปิดทางให้องค์กรต่างๆ เข้ามาช่วย และควรมีการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านจิตใจอันเกิดขากความรุนแรงที่เขาได้เจอ เขาย้ำว่าไม่มีใครอยากประสบภัยหรือความรุนแรง แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขายังคงต้องหนีต่อไป

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าในส่วนของแม่ฮ่องสอน ขณะนี้มีพี่น้องจากรัฐคะเรนนีอพยพเข้ามาในไทยกว่า 4,000 คนแล้ว ดังนั้นในแง่นโยบายต้องปรับให้สอคล้องกับสถานการณ์และระดับพื้นที่ จะต้องกระจายอำนาจและเปิดพื้นที่เพราะลำพังระบบราชการเองไม่เพียงพอ ยังขาดประสบการณ์ ต้องให้องค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการร่วมกัน เราต้องวางการจัดการสำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างรอบด้านและถูกจุด ระเบียบและกฎหมายต้องมีการปรับ ต้องมองเขาเป็นผู้ลี้ภัยไม่ใช่ผู้หลบหนีเข้าเมือง

ดร.ซินเทีย หม่อง หมอผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก เล่าว่าเธอก็เป็นอดีตผู้ลี้ภัยจากเมียนมา เธอได้เปิดคลินิกรักษาคนที่อยู่ในพม่า คนที่อยู่ในค่าย และคนที่หนีการสู้รบเข้ามาในไทย คลินิกของเราได้มีการจัดการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่และทำงานร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐไทยผ่านการสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง จนโรคมาลาเรียและโรคติดต่อตามแนวชายแดนลดลงไปอย่างมาก หลายกลุ่มคนก็สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือด้านสุขภาพมากขึ้น

แต่พอรัฐประหารครั้งนี้ความไว้วางใจในการสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณสุขก็ล่มสลาย หลายคนเจอภาวะทางจิตเนื่องจากการสู้รบ ดร.ซินเทียเสนอว่าอยากให้ไทยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทางสุขภาพจิต ให้หมอเฉพาะทางเข้าไปช่วยเหลือตามแนวชายแดน อยากให้มีการช่วยเหลือข้ามพรมแดน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อรุนแรงอีก

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เคยทำวิจัยเกี่ยวกับค่ายผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2558 เล่าว่าผู้ลี้ภัยในค่ายไม่สามารถอพยพกลับไปยังเมียนมาแบบถาวรได้แล้วเพราะเขาไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป การจะไปประเทศที่สามก็มีโควตาอย่างจำกัด วิธีที่เหลือคือการผสมกลมกลืนกับสังคมไทย ในค่ายมีนักเรียนจำนวนมากที่ได้รับการศึกษาและมีศักยภาพเป็นจำนวนมาก ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรทบทวนและต้องใช้มุมมองด้านการพัฒนามาแก้ปัญหา

ภาครัฐต้องมองเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ ฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้กับรัฐบาลได้ทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กระแสของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ การเติบโตของการค้าชายแดน การคำนึงถึงความรับผิดชอบร่วมกันของภูมิภาคนี้ เราต้องมองการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะช่วยพัฒนาไม่เพียงแค่ประเทศไทย แต่รวมไปถึงเมียนมา และภูมิภาคนี้ด้วย

วริศรา รุ่งทอง ทนายจากโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย กล่าวว่าทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ลี้ภัยในไทยนั้นเกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งหมด ทั้งการไปโรงเรียน การเดินทาง การทำงาน และการรักษาพยาบาล ในเว็บไซต์ของ UNHCR ระบุว่ามีไทยมีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในประเทศประมาณ 9 หมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่นับเฉพาะในค่าย 9 ค่ายตามแนวชายแดน แต่ไม่รวมผู้ลี้ภัยเมียนมาระลอกใหม่ซึ่งมีมากกว่านั้น

นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า คำว่าผู้ลี้ภัยไม่ได้ถูกระบุหรือนิยามในกฎหมายภายในของไทย เมื่อไม่มีกฎหมายเฉพาะ พ.ร.บ. คนเข้าเมืองจึงถูกนำมาใช้ หากพวกเขาไม่มีวีซ่ารัฐไทยก็สามารถผลักดันกลับได้ ซึ่งกฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 2522  วริศราเสนอว่าเมื่อรัฐออกกฎหมายหลักมาแล้ว จำต้องออกประกาศหรือกฎหมายย่อยมารับรองด้วย ในส่วนของห้องกักเธอเสนอว่าตำรวจสามารถเอาโมเดลการเยี่ยมออนไลน์เข้ามาใช้กับห้องกักได้ เพราะตอนนี้เรือนจำก็มีแล้ว และอยากให้มีการนำระเบียบคัดกรองฯ หรือ NSM มาใช้กับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา และต้องประกันด้วยว่าเมื่อเข้ามาในกระบวนการ NSM แล้ว ข้อมูลของผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกเปิดเผยให้กับประเทศต้นทาง

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จากสำนักข่าว The Reporters เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะนักข่าวที่ทำข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมานานเริ่มจากการเข้าไปในประเทศเมียนมา เรียนรู้กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อที่จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่การทำข่าวในชายแดนกลับเป็นเรื่องยากมากเมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดกั้นสื่อมวลชนและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไม่ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดน จากประสบการณ์พบว่าในสถานการณ์สงครามคนที่อันตรายที่สุดไม่ใช่คนที่ถืออาวุธแต่คือนักข่าว เธอย้ำว่าการทำหน้าที่ด้านมนุษยธรรมมีหลายอย่าง ในฐานะนักข่าวการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกมาทำให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือ เลยเป็นความจำเป็นที่เธอต้องนำข้อเท็จจริงจากพื้นที่ออกมาสื่อสารให้ได้

….

หลังจากจบในส่วนของ Fled Talk ช่วงที่ 2 ของงานจะเป็นวงเสวนาแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนงานต่างๆ ทั้งอดีตฝ่ายความมั่นคง อดีตเอกอัครราชทูต กรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อชวนกันมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ถึงทางออกต่อปัญหาการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย

พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เสนอว่าเราต้องเอากลุ่มผู้ลี้ภัยขึ้นมาข้างบน ไม่ใช่ให้สัญชาติทันที แต่ต้องมีกระบวนการคัดกรอง เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบ Top-down คือ การสั่งการลงมาจากข้างบน และเห็นด้วยว่าจะต้องดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาได้แล้ว

อดีตเจ้ากรมกิจการชายแดนกว่าวว่าการที่ไทยใช้คำว่าผู้หนีภัยการสู้รบ (ผภร.) แทนคำว่าผู้ลี้ภัย เป็นชุดความคิดเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประสบการณ์เมื่อครั้งที่เขมรแตกทำให้ไทยอาจจะกลัวการใช้คำนี้ สิ่งที่จะสามารถทำเป็นรูปธรรมในตอนนี้คือระเบียงมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาทุกข์ตามแนวชายแดนก่อน และเราต้องยืนยันว่าการสู้รบต้องไม่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน

พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา อินเดีย และแคนาดา กล่าวว่าตนคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ขณะนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซึ่งจะเป็นการช่วยปิดจุดอ่อนของรัฐบาลไทยและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ นอกจากนี้พิศาลยังมองว่าการเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้นไม่สำคัญเท่ากับเรื่องการกระทำ หากการกระทำของไทยสอดรับกับกติกาสากลของสิทธิมนุษยชน เช่น การสร้างระบบสาธารณสุขชายแดนให้ดีและมีประสิทธิภาพที่สามารถดูแลประชาชนตามแนวชายแดนทั้งสองฝั่งได้

อดีตทูตเสริมว่าเราต้องใช้ประโยชน์ทหารไทยให้มากที่สุด การตัดไขมันกองทัพหลายคนสนับสนุน คนในกองทัพเองก็สนับสนุน แต่เราต้องพัฒนาศักยภาพความพร้อมรบให้กับกองทัพด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เครื่องบิน MiG-29 ของเมียนมาเข้ามาอีก นอกจากนี้ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองเข้ามากำกับการต่างประเทศโดยไม่ได้ฟังฝ่ายข้าราชการประจำเท่าที่ควร รัฐบาลใหม่ต้องใช้ทรัพยากรให้เป็น

ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าทางกสม. ได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะไว้ และได้มีการหารือกับทางหอการค้าจังหวัดตากซึ่งเขายินดีที่จะรับผู้ลี้ภัยในค่ายไว้พิจารณาเพื่อเป็นแรงงาน ส่วนทางปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือแม้กระทั่ง สมช. นั้นก็รับหลักการนี้ไว้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และจากการตรวจสอบพบว่าการไม่เปิดค่ายมีช่องว่างทำใหเกิดการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลค่าย มีการเก็บเงินผู้ลี้ภัยที่จะออกจากค่ายเพื่อไปทำงานข้างนอก ฉะนั้นเราต้องเปิดค่ายเพื่อรับคนเหล่านี้เข้าไปทำงาน

ในส่วนกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ แม้ไทยจะมีระเบียบคัดกรองคนต่างด้าวออกมาแล้ว แต่ก็มีปัญหา คนที่เข้ามาต้องยื่นคำขอภายใน 60 วัน ซึ่งจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นานกว่านี้ และระเบียบนี้ต้องครอบคลุมถึงชาวเมียนมาที่ถือบัตรแรงงานด้วย เราต้องใช้หลักอำนวยความยุติธรรมอำนวยความสะดวก และหันมาใช้หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และหลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่น สาธารณสุข การศึกษา มหาดไทย กลาโหม และอื่น ๆ รวมถึงภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศด้วย

ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ารัฐไทยจะต้องยอมรับก่อนว่าไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่จริงๆ แม้แต่ในระเบียบสำนักนายกฯ หรือ NSM เราก็ไม่ได้ใช้คำว่าผู้ลี้ภัย เราใช้คำอื่นแทน อย่างที่สองคือต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าไทยไม่ใช่ประเทศทางผ่านของผู้ลี้ภัยอีกต่อไป เพราะคนจำนวนมากไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ และทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยไม่ถึง 1% ที่สามารถไปประเทศที่สามได้ เพราะฉะนั้นการบอกว่าไทยเป็นแค่ทางผ่านนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง

และแม้ภาครัฐจะพยายามบอกว่าไทยไม่มีนโยบายส่งผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากลับไปเพื่อถูกประหัตประหาร แต่เราก็เห็นว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นตรงกันข้ามเลย ซึ่งควรเลิกทำแบบนี้ได้แล้ว หลายครั้งที่ไทยส่งคนกลับ มักจะมีแรงจูงใจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเราเชื่อมั่นสิ่งที่เรียกว่าอธิปไตยทำไมเราถึงยอมแรงกดดันจากต่างชาติ อันนี้คือหลักสิทธิมนุษยชน พ.ร.บ. คนเข้าเมืองค่อนข้างให้อำนาจตำรวจในทางอาญา ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามดุลพินิจอย่างมาก

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และอดีตเจ้าหน้าที่ UNHCR และ สมช. กล่าวว่าปัญหาในเชิงนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยของไทย มีปัญหาอยู่สาม “เมื่อ” 1. เมื่อมนุษย์ไม่ถูกมองว่าเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันด้วยเหตุผลเรื่องสัญชาติ ทำให้ผู้ลี้ภัยกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ 2. เมื่อไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ผู้ลี้ภัยอยู่และยังไม่มีพื้นที่สาธารณะที่จะถกเถียงพูดคุยประเด็นผู้ลี้ภัย จึงเป็นปัญหาเชิงนโยบายที่หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำงานหรือพูดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้ 3. เมื่อปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหามากกว่าความมั่นคง หน่วยงานความมั่นคงจะเข้ามาแก้ปัญหา ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาที่ต้องใช้ององคาพยพทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานความมั่นคง

รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะมองการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากเมียนมาที่จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทย จำเป็นต้องมองหาให้กว้าง ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดใหม่จำเป็นจะต้องมองการแก้ไขปัญหาโดยการจัดทำนโยบายออกมาเป็น 3 ชุด ชุดแรกคือการทำนโยบายภายในประเทศ ชุดที่สองคือการจัดทำนโยบายบริเวณชายแดน ชุดที่สามคือนโยบายการต่างประเทศที่สามารถเข้าไปแก้ไขรากเหง้าปัญหาในเมียนมาได้ โดยมาตรการเร่งด่วนที่ควรเกิดขึ้นคือต้องเปิดระเบียงด้านมนุษยธรรมให้ได้ ไทยต้องมองมนุษย์เป็นมนุษย์เท่ากัน